กรุงเทพฯ 3 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ ยืนยันพร้อมยกเลิก 3 สารเคมี “มนัญญา” เดินหน้าลุยสุ่มตรวจ เตรียมรวบรวมข้อมูล สู่แนวทางแบนสารพิษปี 62 ให้เห็นผล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 9 ตุลาคมนี้ ยินดีให้ผู้แทนเครือข่ายต้านสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 686 องค์กรเข้าพบ พร้อมตอบทุกคำถามถึงการพิจารณายกเลิกสารเคมีวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ยืนยันตลอดว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีที่มีพิษ แต่การพิจารณายกเลิกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ดำเนินมาก่อนที่จะรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายนั้น ผู้มีหน้าที่กำกับดูแลและควบคุมการใช้สารเคมีที่มีความเสี่ยง คือ คณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงต้องการถามว่าพิจารณาเรื่องนี้มา 2 ปี เหตุใดจึงไม่ยกเลิก กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานปฏิบัติพร้อมยกเลิกอยู่แล้ว จึงมอบหมายให้นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไปดำเนินการ เพราะกำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการอนุญาตขึ้นทะเบียนและนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ได้สุ่มตรวจบริษัทผู้ผลิต นำเข้าและจำหน่ายในนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ จากนั้นเดินทางไปยังบริษัทเดียวกันอีกแห่งในพื้นที่ เขตบางพลัด จ.กรุงเทพฯ จากการตรวจสอบเบื้องต้นได้ขอตรวจใบอนุญาตทั้ง 3 สาร ซึ่งบริษัทให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากข้อมูลของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรม ระบุว่าปี 2561 มีการนำเข้าพาราควอต 580,000 กก. ส่วนปี 2562 ไม่มีตัวเลขแจ้งการนำเข้า แต่มีสตอกสารพาราควอต 300,000 กก. โดยรับซื้อมาจากบริษัทภายในประเทศ ขณะที่ปี 2562 มีการนำเข้าไกลโฟเซต 500,000 กิโลกรัม เหลือสตอก 270,000 กิโลกรัม ส่วนบริษัทที่ 2 เป็นบริษัทในเครือเดียวกัน ไม่มีสตอกสารเคมีคงค้าง โดยที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรจะเป็นคนกำหนดโควต้าสารเคมีดังกล่าว
“การลงพื้นที่เป็นการติดตามต่อเนื่องจากครั้งที่แล้ว จุดประสงค์หลัก คือ ต้องการตรวจสอบตัวเลขสตอกสารเคมีที่แท้จริง เพื่อไม่ให้ข้อมูลซ้ำซ้อนกัน อีกทั้งจากการสอบถามข้อมูลของผู้ประกอบการพบว่าการส่งออก 3 สารเคมีไปต่างประเทศ ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า เพราะเป็นการให้เกษตรกรนำมาใช้ประโยชน์ และช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะที่การส่งออกก็ไม่เสียภาษี ดังนั้น จึงมองว่าเกษตรกรไม่ได้ผลประโยชน์ใด ๆ จึงอาจเสนอแนวทางเก็บภาษีผู้ส่งออกสารเคมีดังกล่าว และนำเงินภาษีมาใช้ส่งเสริมโครงการที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร อาทิ โครงการเกษตรอินทรีย์” นางสาวมนัญญา กล่าว
ทั้งนี้ จะรวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่ทั้งหมด โดยต้องตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้งก่อนจะนำไปเสนอพิจารณาในการประชุมวันจันทร์นี้ เพื่อดำเนินการหาแนวทางในการยกเลิกสารเคมีดังกล่าวต่อไป.-สำนักข่าวไทย