กรุงเทพฯ 6 ก.ย. – รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังน้ำหลาก ก่อนสิ้นฤดูฝนอาจมีพายุเข้าอีก 1 ลูกในภาคกลาง ย้ำหาพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่ม ขุดขยายแก้มลิง เพิ่มศักยภาพอ่างเก็บน้ำ พร้อมกำชับวางแผนการบริหารจัดน้ำฤดูฝนภาคใต้อย่างรัดกุม
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมผ่านระบบประชุมทางไกลกับสำนักชลประทานทั่วประเทศ โดยระบุว่าต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีทั้งภัยแล้งและอุทกภัยพร้อมกัน จากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอาจมีพายุเข้าสู่ภาคกลางตอนกลางถึงตอนล่างจากนี้จนถึงกลางเดือนตุลาคม ก่อนสิ้นฤดูฝนทางตอนบนของประเทศ อีกทั้งร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณดังกล่าวอาจมีฝนตกหนักและหนักมากบางแห่งได้ จึงให้เตรียมรับมือสถานการณ์
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนที่อาจประสบอุทกภัยเพิ่มเติม จึงย้ำให้กรมชลประทานทำงานเชิงรุก เน้นการป้องกันและการวางแผนที่ดี เตรียมทั้งเครื่องจักร-เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาปัญหาของประชาชนทันที นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้กระทรวงเกษตรฯ ศึกษาวิธีการจูงน้ำเพื่อนำไปเก็บในที่ลุ่มต่ำหรือแก้มลิง ที่ดินของหน่วยงานรัฐ และที่ดินของเอกชนซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ โดยกรณีที่ดินเอกชนนั้น หากภาครัฐจะเช่าเป็นที่หน่วงน้ำ อัตราค่าเช่าควรเป็นเท่าไร โดยเฉพาะถ้าเป็นที่นา เนื่องจากเกษตรกรต้องหยุดทำนาตลอดเวลาประกาศกฤษฎีกาเขตการเช่าที่ดิน เพื่อกักน้ำไว้ให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งในการผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งสามารถปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ แล้วให้เกษตรกรจับไปบริโภคและขาย เพื่อมีรายได้ตามที่บางระกำโมเดลประสบผลสำเร็จ ขอให้เร่งศึกษาเพราะจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเร็ววันนี้
นายเฉลิมชัย ย้ำว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนพื้นที่การเกษตรที่กำลังจะเก็บเกี่ยวต้องป้องกัน หากทำตรงนี้ได้ความเสียหายก็จะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม อีกทั้งเน้นให้โครงการชลประทานทุกแห่งพร้อมทั้งให้ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลาด้วย หลังจากน้ำลดจะเร่งสำรวจความเสียหายทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง เพื่อช่วยเหลือต่อไป
“ขอให้รายงานปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดที่ใช้งานมาเกิน 20 ปี แล้วพิจารณาว่าจะสามารถขุดลอกเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บน้ำได้หรือไม่ อ่างเก็บน้ำที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปอาจมีตะกอนหนามาก หากขุดลอกจะเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก ขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน เพราะหากคิดจะสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มทำได้ยาก” นายเฉลิมชัย กล่าว
สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของภาคใต้ ซึ่งจะเริ่มกลางเดือนตุลาคม นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ขอให้กรมชลประทานเร่งรัดโครงการบรรเทาอุทกภัยภาคใต้ทุกจังหวัด หากโครงการใดล้าช้าให้ตรวจสอบว่า ดำเนินการไม่เสร็จเพราะอะไร ผู้รับเหมาทิ้งงานหรือไม่ เร่งแก้ไขด่วนที่สุด นอกจากนี้ ต้องกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมดทั้งวัชพืช สิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำลำน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก ได้แก่ อำเภอบางสะพาน จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุมชนใหญ่ หากน้ำท่วมจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมาก ขณะนี้ที่ห่วงที่สุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งโครงการบรรเทาอุกทกภัยไม่สามารถดำเนินการได้ครบทั้งระบบ ระยะเร่งด่วนให้หาแนวทางดำเนินการกรณีน้ำมาก จะบรรเทาให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดได้อย่างไร ให้จัดเครื่องจักร-เครื่องมือไปประจำจุดเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะสะพานแบลี่ เนื่องจากเส้นทางสัญจรใช้งานไม่ได้ สามารถใช้สะพานแบลี่เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยและช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที จากนั้นได้ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่กรมชลประทานทุกคน โดยระบุว่าทราบว่าเหนื่อยกันมากและทำงานกันอย่างเต็มที่มาตลอดทั้งในการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำชับให้สำนักชลประทานทุกแห่งดำเนินงานตามแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาที่ต้องรับน้ำเหนือจากยมและน่าน ดังนั้น จะควบคุมการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ไม่ให้เกิน 900 ลบ.ม. ต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำในจังหวัดท้ายเขื่อน
สำหรับนโยบายเช่าพื้นที่เป็นแก้มลิงนั้น กำลังร่างหนังสือหารือข้อกฎหมายจากกฤษฎีกาเพื่อความถูกต้อง เมื่อประกาศเขตเช่าเป็นแก้มลิงแล้ว รัฐต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ทุ่งนั้น ๆ หากออกเป็นประกาศยามน้ำหลากสามารถดำเนินการใช้ที่ดินเป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามประกาศได้ทันที
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะรายงานสถานการณ์น้ำ ( 5 ก.ย.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 46,331 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 22,401 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 29,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,159 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขาทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากพื้นที่ตอนบนของประเทศมีปริมาณฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสมมากขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.ย. 62 เวลา 08.00 น.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ 1,399 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 824 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงประมาณ 700 – 900 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน ได้แก่ บริเวณตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร ปริมาณน้ำดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบัน ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร และนครพนม การช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ ไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศ แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 83 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 56 เครื่อง รถบรรทุก 6 คัน และกาลักน้ำ 20 แถว.-สำนักข่าวไทย