เพชรบุรี 4 ก.ย.-การพบพยานหลักฐานสำคัญที่ระบุได้ว่า “บิลลี่” ถูกฆาตกรรม ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยิ่งทำให้ภรรยาของบิลลี่ค่อนข้างเชื่อว่า คนที่มีส่วนทำให้บิลลี่ตาย อาจเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานที่มีปัญหาขัดแย้งกับชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย
พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวนเขื่อนแก่งกระจาน เป็นจุดที่พบพยานหลักฐานสำคัญที่ทำให้ระบุได้ชัดเจนในระดับหนึ่งว่า นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ถูกทำให้เสียชีวิต เผาในถังน้ำมัน 200 ลิตร และถ่วงน้ำอำพรางคดี แต่ยังเหลือชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะ ซึ่งตรวจพิสูจน์แล้วสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ตรงกับมารดาของบิลลี่
จุดพบพยานหลักฐานสำคัญนี้ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไม่ถึง 1 กม. ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่คนใกล้ชิดบิลลี่พยายามส่งเสียงมาตลอดว่า บิลลี่ถูกทำให้หายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบอกว่า เนื่องจากพื้นที่พบวัตถุพยานสำคัญ อยู่ในพื้นที่อุทยาน พร้อมให้ความร่วมมือกับดีเอสไอเต็มที่ เพื่อให้คดีกระจ่าง
“พิณนภา พฤกษาพรรณ” หรือมึนอ ภรรยาของบิลลี่ บอกว่า ก่อนหายตัวไป บิลลี่ออกจากบ้านที่หมู่บ้านป่าเด็ง ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน ไปเยี่ยมมารดาที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ต.ห้วยเพรียงใต้ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในวันที่ 15 เมษายน 57 ต่อมาวันที่ 17 พี่ชายบิลลี่ โทรศัพท์มาถามว่าบิลลี่ถึงบ้านหรือยัง เพราะออกมาจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ตั้งแต่วันที่ 16 ตอนนั้นจึงรู้ว่าบิลลี่หายไป และเริ่มตามหาจนรู้ว่า บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานควบคุมตัว ขณะกำลังผ่านด่านมะเร็ว ขาออกจะกลับบ้านที่หมู่บ้านป่าเด็ง
“พิณนภา” บอกว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มคนที่ทำให้สามีเธอเสียชีวิตและอำพรางศพด้วยวิธีการอำมหิต จะเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวที่ควบคุมตัวบิลลี่ไว้ และบิลลี่กำลังมีความขัดแย้งด้วย จากการที่เขาเป็นแกนหลักเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินให้ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย และช่วยเหลือชาวบ้านที่นั่น ฟ้องศาลปกครอง เรียกร้องค่าเสียหาย กรณีอุทยานแก่งกระจานและทหาร เปิดปฏิบัติการตะนาวศรี ผลักดันชาวกะเหรี่ยงออกจากพื้นที่ทำกิน พร้อมเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าวชาวบ้าน เมื่อปี 54
หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกผลักดัน เผาบ้าน ยุ้งข้าว เมื่อปี 54 คือ ปู่คออี้ มีมิ ผู้อาวุโสของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งเป็นปู่แท้ๆ ของบิลลี่ นอกจากเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาญของชาวกะเหรี่ยงที่โป่งลึก บางกลอย นับจากปี 54 ยังเป็นสัญลักษณ์ความขัดแย้งระหว่างอุทยานกับชาวบ้าน โดยมีบิลลี่ เป็นตัวแทนทวงความเป็นธรรม.-สำนักข่าวไทย