กรุงเทพ ฯ 27 ส.ค. – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปี 62 จะโตได้เพียงร้อยละ 2.9 ลดลงจากเดิมคาดว่าจะทำได้ร้อยละ 3.5 ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้ารอบด้านทั้งการลงทุนภาครัฐฯ ล่าช้า ภัยแล้ง การท่องเที่ยวชะลอ และสงครามการค้า ชี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯ ช่วยหนุนตัวเลขครึ่งปีหลังได้ไม่มาก เพราะต้องพึ่งพิงเงินจากสถาบันการเงินรัฐฯ ค่อนข้างสูง
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้า TISCO ESU เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินรวม 316,000 ล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 นั้น ประเมินว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอาจช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ไม่เต็มที่นัก เพราะเม็ดเงินส่วนใหญ่ 207,000 ล้านบาท เป็นการพึ่งพิงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐฯ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงในการเบิกใช้วงเงิน
ขณะที่เม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยตรงอย่างการให้เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ และเม็ดเงินกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศ รวมกันประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีประมาณร้อยละ0.2 เท่านั้น ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะหนุนให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวเกินร้อยละ 3 ตามเป้าหมายของภาครัฐฯ ได้
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. มาตรการบรรเทาค่าครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการรัฐขยายระยะเวลาเพิ่มอีก 2 เดือน รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้าน 2. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยช่วยลดดอกเบี้ยรวมถึงขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย มาตรการปล่อยสินเชื่อ และโครงการช่วยเหลือเงินต้นทุนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี และ 3. มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ โดยสนับสนุนการบริโภคผ่านเงินช่วยเหลือการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งเสริมการลงทุนผ่านการลดภาษีใช้จ่ายซื้อเครื่องจักร สนับสนุน SMEs ผ่านการให้สินเชื่อจากกองทุน และสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อบ้าน
“จะสังเกตได้ว่ามาตรการส่วนใหญ่จะใช้เม็ดเงินมาจากสถาบันการเงินของรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อ และการลดดอกเบี้ยนั้น สถาบันการเงินต่าง ๆ จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น อาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าเงินจะเข้าสู่ระบบ และมีความไม่แน่นอนสูงในการเบิกใช้วงเงิน” นายคมศร กล่าว
ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปี TISCO ESU คาดว่า GDP ของไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งแม้จะดูดีขึ้นจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 แต่การขยายตัวที่เพิ่มขึ้นนี้ก็เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงปลายปีที่แล้ว ประกอบกับโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจยังนับว่าอ่อนแอลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งถูกกดดันจากสงครามการค้า รวมทั้งความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง การอนุมัติงบประมาณล่าช้า และการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว.-สำนักข่าวไทย