ตรัง 14 ส.ค.-ตัวแทนชาวบ้านสนามบินตรัง ร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อ หลังผลการตรวจวัดเสียงและแรงสั่นสะเทือนระบุว่าความดังและแรงสั่นสะเทือนของเครื่องบินยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จึงไม่พิจารณาเวนคืนที่ดินตามที่ชาวบ้านร้องเรียน
นางสมศรี เงินศรี อายุ 57 ปี และนายพรหมภัสสร อนุสรณ์วาณิช อายุ 57 ปี พร้อมตัวแทนชาวบ้านหัวสนามบินที่มีอยู่จำนวน 30 ครัวเรือน หรือรวมเนื้อที่กว่า 19 ไร่ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นลงของเครื่องบินสนามบินตรัง ทำบ้านเรือนแตกร้าว ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนมายาวนาน โดยเฉพาะช่วงฝนตก น้ำฝนจะรั่วเข้าบ้าน ยิ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก บางช่วงที่สภาพอากาศปิด เครื่องบินจะยกตัวขึ้นใกล้หลังคาบ้าน และบินวนต่ำเฉียดหลังคาบ้าน บางครั้งบินวนหลายรอบ เพื่อหาทางขึ้นหรือลงสู่สนามบิน จนทำเด็กเล็กร้องไห้ บ้านเรือนแตกร้าวสะสม
ชาวบ้านนำผลการตรวจวัดระดับเสียงและแรงสั่นสะเทือนของเครื่องบิน จากกรมท่าอากาศยานตรัง ที่ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ระบุว่าระดับเสียงและแรงสั่นสะเทือนไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน จึงจะไม่พิจารณาเวนคืนที่ดินทั้งหมดตามที่ชาวบ้านร้องเรียน โดยหนังสือตอบกลับของกรมท่าอากาศยานฯ มีข้อความระบุว่า “กรณีกรมท่าอากาศยานได้ทำการตรวจสอบโดยให้บริษัทที่ปรึกษาตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือนบริเวณชุมชนหัวทางวิ่ง 26 เมื่อวันที่ 8-9 เมษายน 2562 โดยมีท่าอากาศยานตรัง, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง และเทศบาลตำบลโคกหล่อ เข้าร่วมสังเกตการณ์การดำเนินการดังกล่าว ผลการตรวจวัดค่าระดับเสียงกลางวัน-กลางคืนที่เกิดจากอากาศยาน มีค่า 52.89-55.73 เดซิเบล อยู่ในเกณฑ์ระดับเสียงที่เหมาะสม (น้อยกว่า 65 เดซิเบล) และผลการตรวจความสั่นสะเทือนขณะที่อากาศยานบินผ่าน ไม่มีผลกระทบต่ออาคารตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 37 (พ.ศ.2553) ดังนั้น ผลการตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือนจึงยังเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน”
ทั้งนี้ ชาวบ้านยืนยันว่ายินดีที่สนามบินตรังจะเจริญขึ้น ไม่ได้ต่อต้านการปรับปรุงขยายสนามบิน แต่ไม่ได้อยากจะย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะอยู่กันมาดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ อยากขอความเป็นธรรม เพราะบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกของสนามบิน แตกร้าวเพราะการขึ้นลงของเครื่องบินสนามบินตรังจริง ผลการตรวจวัดที่ตอบกลับมาไม่มีความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เพราะในวันมาติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดมีการแจ้งล่วงหน้า โดยท่าอากาศยานตรังรับรู้ และทำเพียง 2 วันเท่านั้น สภาพอากาศโปร่ง ทำให้เครื่องบินแต่ละลำบินในระดับสูงตั้งแต่ขึ้น และไม่ได้บินวนเหมือนที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงสภาพอากาศปิด
นอกจากนี้ตรวจวัดโดยบริษัทที่ปรึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับกรมท่าอากาศยาน ไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นกลาง เพราะเดิมบริษัทที่ปรึกษาฯ ทำผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น ที่ตัดบ้านเรือนหัวสนามบินออกไป ไม่อยู่ในแผนเวนคืน เพราะเข้าใจผิดว่าชาวบ้านทั้งหมดดังกล่าวอยู่ในที่ราชพัสดุ ไม่ใช่ที่เอกสารสิทธิ จึงตัดชาวบ้านทั้งหมดออกไปตั้งแต่แรก โดยชาวบ้านยืนยันทั้ง 30 หลังคาเรือน เป็นเอกสารโฉนดที่ดิน และบ้านเรือนแตกร้าวเพราะการขึ้นลงของเครื่องบิน ปัญหารอยแตกร้าวของบ้านเกิดขึ้นสะสมมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี จนกระทั่งรอยแยกกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนต้องซ่อมแซมกันหลายครั้ง ฝนตกบ้านก็รั่ว ขณะนี้เริ่มมีการก่อสร้างขยายสนามบินแล้ว โดยบ้านชาวบ้านที่ใกล้ที่สุดรั้วสนามบินห่างกันไม่กี่ศอกกับกำแพงบ้าน และห่างหัวทางรันเวย์ไม่กี่เมตร ขณะที่บ้านเรือนทางด้านทิศตะวันตกที่กรมท่าอากาศยานกำหนดในแผนการเวนคืนไม่ได้เดือดร้อน เหมือนบ้านทางทิศตะวันออก พร้อมร้องขอความเป็นธรรมให้ส่งผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบและเป็นกลางลงพื้นที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริง.-สำนักข่าวไทย