กรุงเทพฯ 6 ส.ค.- หัวหน้าหน่วยปรสิตวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยืนยันโรคจากหมัดแมวไม่สามารถทำให้คนเสียชีวิตได้ พบเพียงอาการแพ้น้ำลายหมัดเป็นผื่นคัน และพยาธิตืดแตงกวาเท่านั้น วันนี้พาไปทำความรู้จักกับโรคจากหมัดแมว
แม้แพทย์จะระบุว่า น.ส.สุนิสา ธรรมโม หรือ “น้องมิว” นักเรียนชั้น ม.5 เสียชีวิตเพราะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากโรคพุ่มพวง ไม่ใช่การติดเชื้อในกระแสเลือดจากการถูกหมัดแมวกัด แต่ผู้เลี้ยงแมวก็ควรระมัดระวัง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายไม่แข็งแรง เพราะในสัตว์เลี้ยงอย่างแมวและสุนัข ล้วนมีทั้งหมัดและเห็บอยู่ทั่วไป
นายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตบอกว่า หมัดที่โตเต็มวัยจะมีขนาดเล็ก ตัวแบน กินเลือดบนตัวสัตว์เลี้ยงเป็นอาหาร สามารถกระโดดได้ และกัดคนได้ แต่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นขนาดทำให้เสียชีวิต พบเพียงอาการแพ้น้ำลายหมัด ผิวหนังเป็นผื่นคัน อักเสบ สามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
โอกาสเสี่ยงที่เชื้อแบคทีเรียจากหมัดแมวจะติดต่อมาสู่คน เคยพบรายงานในต่างประเทศ คือ เชื้อบาร์โทเนลลา (Bartonella) และเชื้อริกเก็ตเซีย (Rickettsia) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการผื่นคัน ต่อมน้ำเหลืองบวม รุนแรงกว่าการแพ้น้ำลายหมัด แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต สำหรับในเมืองไทย เคยพบแต่เชื้อบาร์โทเนลลา แต่ยังไม่เคยมีรายงานคนไทยถูกกัดและมีอาการแพ้จากเชื้อทั้งสองตัวนี้ ส่วนโรคจากหมัดแมวที่อาจติดต่อมาสู่คนได้ คือ พยาธิตืดแตงกวา
สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การป้องกันที่ตัวสัตว์เลี้ยง นอกจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคหัด โรคพิษสุนัขบ้า โรคลูคีเมีย และโรคเอดส์แมวแล้ว หากจำเป็นต้องเลี้ยงแมวหรือสุนัขแบบปล่อย ต้องให้ยาป้องกันหมัดและเห็บอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดูแลเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะตามพรมและแหล่งเพาะพันธุ์ของปรสิตเหล่านี้.-สำนักข่าวไทย