กรุงเทพฯ 6 ส.ค. – กรมการข้าวแนะเทคนิคตัดใบข้าวในนาหว่าน ช่วยให้นาข้าวที่ประสบภัยแล้งฟื้นตัวเร็วและวัชพืชจะโตไม่ทัน ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ภาวะฝนทิ้งช่วงที่ผ่านมา ทำให้นาข้าวหลายพื้นที่ต้นโทรมแห้งและชะงักการเจริญเติบโตของข้าว รวมทั้งมีวัชพืชขึ้นในแปลงนามาก แต่ขณะนี้ฝนเริ่มกลับมาตกต้องตามฤดูกาล หากมีน้ำขังนาแล้วชาวนาสามารถใช้เทคนิคการตัดใบข้าวให้ต้นข้าวฟื้นตัวได้ โดยแนะนำสำหรับแปลงนาหว่านซึ่งการตัดใบควรมีระดับน้ำในนาสูงไม่เกิน 5 เซนติเมตร สามารถใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพายบ่าตัดระยะข้าวกำลังแตกกอที่ความสูงประมาณ 5 เซนติเมตรจากผิวดิน เท่ากับระดับผิวน้ำ หลังจากตัดใบประมาณ 15 วัน ต้นข้าวจะเจริญเติบโตจนมีความสูงเท่าก่อนตัด จากงานวิจัยของกรมการข้าวพบว่า “เทคนิคการตัดใบข้าว” ไม่ใช่เพื่อการกำจัดวัชพืชเท่านั้น แต่มีศักยภาพที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่นาหว่านข้าวได้ด้วย เนื่องจากใบข้าวและวัชพืชที่ตัดออกจะถูกย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ให้กับข้าวเป็นอย่างดี ช่วยลดการแข่งขันของวัชพืช ทำให้ต้นข้าวสูงสม่ำเสมอและแตกกอได้ดีเหมือนนาปักดำ ช่วยลดการระบาดและทำลายของโรคแมลงศัตรูข้าว รวงข้าวออกอย่างสม่ำเสมอและสุกแก่พร้อมกัน ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีปฏิบัติตามปกติที่ไม่ได้ตัดใบ
อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า พื้นที่นาของไทยเปลี่ยนแปลงจากการปลูกแบบปักดำมาเป็นการหว่านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขาดแคลนแรงงานและต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่ด้วยวิธีการปลูกแบบหว่านเมล็ดส่งผลให้วัชพืชเกิดขึ้นในแปลงเพิ่มมากขึ้นด้วยการใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืช ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ดังนั้น ชาวนาหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทดลองใช้เทคนิคการตัดใบข้าว เพื่อการกำจัดวัชพืชพบว่าได้ผลดีและเริ่มนิยมใช้แพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ทำในนาปักดำเพราะระบบรากของข้าวที่ปลูกแบบนาปักดำจะไม่แข็งแรงเท่ากับนาหว่าน เมื่อตัดใบข้าวแล้วจะทำให้ข้าวฟื้นตัวช้าหรือไม่ฟื้นเลย โดยเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่หรือที่กรมการข้าว หมายเลขโทรศัพท์ 02-561-3056.-สำนักข่าวไทย