กรุงเทพฯ 24 ก.ค. – กรมการข้าวพร้อมแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ชาวนาที่ประสบภัยแล้งปลูกใหม่เป็นข้าวเจ้า 10 พันธุ์ รวม 10,000 ตัน แนะปลูกให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม
นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ฝนทิ้งช่วงทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวขาดน้ำประมาณ 10 ล้านไร่ ใน 20 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน สกลนคร ขอนแก่น มุกดาหาร มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครสวรรค์ และลพบุรี ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้มอบให้ชาวนาที่ต้นข้าวเสียหายเพื่อปลูกใหม่ 10,000 ตัน หากต่อไปมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวได้ โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เตรียมไว้เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุ 95 -120 วัน ได้แก่ พันธุ์ข้าว กข29 กข31 กข41 กข49 กข57 กข71 ชัยนาท1 พิษณุโลก2 สุพรรณบุรี1 และปทุมธานี 1 สาเหตุที่แนะนำให้ปลูกข้าว 10 พันธุ์นี้ เนื่องจากระยะเวลาเจริญเติบโตของลำต้นและใบเพียงพอต่อการออกรวงให้ผลผลิตได้ ทั้งนี้ การเพาะปลูกควรทำให้เสร็จภายในวันที่ 31 เดือนสิงหาคม 2562 เพราะจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนธันวาคม 2562 หากปลูกล่าช้าจะมีน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากหมดฤดูฝนแล้ว ทำให้ต้นข้าวที่อยู่ในช่วงตั้งท้องออกรวงจะขาดน้ำ ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่าร้อยละ 50
สำหรับวิธีการปลูกนั้น แนะนำให้ปลูกโดยวิธีหยอด โรยเป็นแถว หรือหว่าน ไม่แนะนำให้ปลูกด้วยวิธีตกกล้าปักดำ เนื่องจากจะทำให้ต้นข้าวสามารถตั้งตัวและเจริญเติบโตได้เร็ว อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ปลูกที่เหมาะสม คือ ไร่ละ 10 – 15 กิโลกรัม กรณีต้นข้าวระยะต้นกล้าหรือระยะแตกกอขาดน้ำประสบภาวะขาดน้ำเป็นระยะเวลาไม่นานเริ่มมีอาการเหี่ยว หากได้รับน้ำเพียงพอจะสามารถกลับมาเจริญเติบโตได้ จึงขอให้เกษตรกรเพิ่มการดูแลรักษา ควรเร่งหาน้ำปล่อยแปลงนาโดยเร็ว และใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินให้ถูกสูตร ถูกอัตรา และถูกเวลาเพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น กำจัดวัชพืชและข้าวเรื้อในแปลงนา พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าวอย่างใกล้ชิด
นายประสงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ปลูกข้าวที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วงปี 2562 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และศรีสะเกษ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีที่สำคัญของประเทศ อาจส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ไม่มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและปริมาณเมล็ดพันธุ์ยังไม่เพียงพอที่จะเก็บไว้ใช้เองเพื่อปลูกในปีต่อไป รวมทั้งเกษตรกรบางรายขาดแคลนเงินทุนเพื่อจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวอาจทำให้ผลผลิตข้าวหอมมะลิมีคุณภาพต่ำลง และเกิดปัญหาต่อตลาดข้าวหอมมะลิที่ไทยส่งออกดังนั้น ปีการผลิต 2563/2564 รอบที่ 1 (นาปี) กรมการข้าวจะเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีให้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพื่อใช้ในการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิให้มีประสิทธิภาพ ผลผลิตมีคุณภาพสูง รักษาระดับปริมาณและคงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิไทยจากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้มาตรฐานไปปลูกและไม่มีผลกระทบต่อการค้า-การตลาดของประเทศไทยต่อไป.-สำนักข่าวไทย