ฮอกไกโด 30 ก.ค. – กนอ.-กรมเจ้าท่าเร่งทำประชาพิจารณ์ขั้นสุดท้าย เพื่อให้โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 มูลค่า 55,400 ล้านบาท ลงนาม ก.ย.นี้
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยระหว่างนำคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 มูลค่าการลงทุน 55,400 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ เดือนกันยายนนี้ และเพื่อความรวดเร็วในกระบวนการเดินหน้าโครงการ กนอ.จะทำงานแบบคู่ขนาน โดยด้านหนึ่งจะนำร่างสัญญาโครงการที่ปรับปรุงและผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอัยการสูงสุด พร้อมผลการพิจารณาของ EHIA ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และข้อคิดเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติตาม พ.ร.บ.กนอ. ม.66 ไปก่อน
หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติจะรอให้กระบวนการทำประชาพิจารณาขั้นสุดท้ายที่กรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานอนุญาตและ กนอ.จัดทำเสร็จปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นกันยายนนี้ จากนั้นจะลงนามในสัญญาโครงการ ส่วนการที่เอกชนซึ่งลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโครงการนี้จะได้รับใบอนุญาตนำเข้าก๊าซ ทำให้มีสถานะเป็นชิปเปอร์นั้น คณะกรรมการคัดเลือกได้เชิญเอกชนมาหารือยินดีร่วมมือ โดยทาง บมจ.ปตท.จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ปตท.และทางกัลฟ์จะเสนอให้ผู้บริหารที่มีอำนาจอนุมัติพิจารณาก่อนเช่นกัน ใช้เวลา 2 สัปดาห์นับจากนี้ไป โดย กนอ.จะได้รับเงินเป็นจำนวนรายปีเพิ่มเติม
สำหรับโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2568 แบ่งเป็นช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในส่วนการขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี ส่วนโครงการ ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างท่าเรือ ทาง กนอ.จะออกประกาศเชิญชวน (TOR) ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาต่อไป โดยต้องมีศักยภาพรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี
ส่วนการศึกษาดูงานที่บริษัท เจแปน ซีซีเอส ที่ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการสาธิตการทดสอบเทคโนโลยีดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยนำก๊าซที่ดักจับได้ส่งกลับลงไปเก็บในชั้นหินใต้พื้นดินในทะเลญี่ปุ่น โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ METI และเป็นโครงการที่ไม่แสวงหากำไร แต่ทำขึ้นเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีสถานีอัดฉีดก๊าซกลับลงไปใต้ชั้นหินอยู่บนชายฝั่งส่งก๊าซผ่านท่อที่มีระบบความปลอดภัย พร้อมระบบเฝ้าระวัง ซึ่งมีความปลอดภัยแม้เกิดเหตุแผ่นดินไหว ล่าสุดทางซีซีเอสดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปจัดเก็บใต้ชั้นหินใต้พื้นโลกในทะเลญี่ปุ่นกว่า 200,000 ตัน และจะครบตามเป้าหมาย 300,000 ตันภายในปีนี้ และยุติโครงการสาธิตนี้ แต่บริษัทกำลังหาแนวทางดำเนินการต่อเนื่องอื่น ๆ เพื่อดำเนินกิจการต่อไป เช่น การเจรจากับบริษัทจากฮอลแลนด์ เพื่อนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่งลงไปใต้พื้นโลกนำกลับมาใช้เป็นต้นแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้
ส่วนแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ กนอ.มีโครงการเช่นกัน โดยเน้นส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมทั้งของ กนอ.12 แห่งทั่วประเทศ และนิคมร่วม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งในกระบวนการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ใช้เทคโนโลยีในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศที่แตกต่างกันไป โดยเน้นโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดเป็นหลัก เนื่องจากมีแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก เช่น โรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ประเทศไทยร่วมลงนามในสัญญาลดก๊าซเรือนกระจกสนธิสัญญาโตเกียวคอนเวชั่น.-สำนักข่าวไทย