ภูมิภาค 29 ก.ค.- ภาคอีสาน หลายพื้นที่ภัยแล้งยังคุกคามหนัก จากปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะที่ระดับน้ำโขงยังทรงตัว ปริมาณน้ำสาขาหลายแห่งน้ำยังน้อย ประชาชนต่างเร่งเก็บกักน้ำ ส่วนภาคกลาง แม้ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น แต่ชลประทานยังระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทำให้สภาพแม่น้ำด้านท้ายเขื่อน หลายจุดมีสภาพแห้งขอด
ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.นครพนม ยังทรงตัว อยู่ที่ระดับ 3 เมตร ถึงแม้จะมีฝนตกลงมาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็ตาม แต่ยังคงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงอีกรอบ ประกอบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสะสมต่ำประมาณ 80-90 มิลลิเมตร ต่ำจากช่วงฤดูฝนของทุกปี ที่อยู่ประมาณ 10-12 เมตร ส่งผลให้ระดับน้ำโขงผันผวนวิกฤติ ต่ำกว่าตลิ่งถึง 13 เมตร เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาภัยแล้ง พื้นที่นาปีขาดแคลนน้ำเสียหายหลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.นาหว้า และศรีสงคราม
ลำน้ำอูนและลำน้ำสงคราม ลำน้ำสาขาสายหลักของแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบหนัก ส่งผลให้ปริมาณน้ำต่ำเพียงร้อยละ 10 -20 ของความจุ ข้าวนาปีที่พึ่งเริ่มปักดำได้รับผลกระทบแล้วกว่า 50,000 ไร่ และเสียหายกว่า 10,000 ไร่ ชลประทานจังหวัดนครพนมประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งกักน้ำ พร้อมสูบน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน นำไปช่วยเหลือพื้นที่นาข้าวให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้จัดหาแหล่งน้ำสำรอง งดปลูกพืชนอกเขตชลประทาน จนกว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอ
จ.มุกดาหาร ก็ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเช่นกัน ทำให้น้ำที่จะใช้ทำนาไม่เพียงพอ อบจ.มุกดาหาร ต้องนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 2 เครื่อง ช่วยเหลือชาวบ้านสูบน้ำจากลำห้วยสาขา เพื่อไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังแห้งเหี่ยว นายสัน น้อยทรง ชาวบ้าน ต.โนนยาง อ.หนองสูง บอกว่า ตนเองทำนา 20 ไร่ ข้าวกำลังเจริญเติมโต แต่ช่วงนี้ขาดน้ำ ทำให้ข้าวเริ่มแห้งเหี่ยว
ส่วนภาคกลาง พบว่าระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.เมืองชัยนาท เพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 14.26 เมตร หลังจากที่เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างในบางพื้นที่ตอนบน ประกอบกับเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เพิ่มระบายน้ำเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ชลประทานยังคงระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทำให้สภาพแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อน ที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท หลายจุดมีสภาพแห้งขอด เกิดสันดอนทรายจำนวนมาก แต่ยังกระทบการทำนา ชาวนา อ.สรรพยา ทำทุกวิถีทางทั้งสูบน้ำคลอง-น้ำบ่อ ไปเลี้ยงต้นข้าว หวังเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเจอน้ำหลากปลายปี แต่น้ำใต้ดินก็มีน้อยเช่นกัน
ด้านกรมชลประทานเร่งสูบน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ช่วยพื้นที่เกษตรเหนือเขื่อนกว่า 7,000 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้ นาข้าวประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ขณะนี้รอดพ้นจากความเสียหายแล้ว ส่วนพื้นที่ท้ายน้ำที่ต่อเนื่องมาจนถึงเขื่อนพระราม 6 เกษตรกรให้ความร่วมมือชะลอการปลูกข้าวเพื่อรอฝน ทำให้สามารถยืดระยะเวลาการใช้น้ำในเขื่อนได้นานขึ้น
นายศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ กล่าวว่า เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำท้ายเขื่อนวันละ 440,000 ลูกบาศก์เมตรเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศแก่พื้นที่ใช้น้ำของโครงการฯ เกือบ 20,000 ไร่ ซึ่งครอบคลุม อ.แก่งคอย เสาไห้ เฉลิมพระเกียรติ บ้านหมอ วิหารแดง หนองแซง และ อ.เมืองสระบุรี ต่อเนื่องจนถึงเขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้ทุกพื้นที่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง แต่การระบายดังกล่าวนั้นงดเว้นน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจากการประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการ เกษตรกรให้ความร่วมมือชะลอการปลูกข้าวเพื่อรอฝน ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะตกอีกครั้งในต้นเดือนสิงหาคมนี้ มีบางพื้นที่ซึ่งเพาะปลูกไปแล้ว แต่เกษตรกรใช้วิธีหว่านแห้ง เมื่อฝนทิ้งช่วง เมล็ดที่หว่านไว้ไม่ได้รับความเสียหาย หากฝนตกต่อเนื่อง ต้นข้าวจะเติบโตตามปกติ ซึ่งปีนี้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำไหลลงอ่างน้อยตั้งแต่ 1 มกราคม-29 กรกฎาคม มีปริมาตร 760,000 ลูกบาศก์เมตร ปริมาตรน้ำเก็บกัก 36.78 ล้านลูกบาศก์เมตร.-สำนักข่าวไทย