นนทบุรี 15 ส.ค. – รมว.พลังงานเผยพร้อมทบทวน การปรับสูตรไบโอดีเซล ยืนยันจะพิจารณาประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคและเกษตรกร
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีชาวสวนจ.กระบี่จะเดินทางมาเรียกร้องให้กระทรวงทบทวนสัดส่วนผสมไบโอดีเซลจากบี 5 เป็นบี 3 ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมนี้ เนื่องจากราคาปาล์มลดต่ำอย่างรวดเร็ว ว่า ทางรัฐบาลมีการหารือติดตามปัญหาตลอด ทั้งกระทรวงพาณิชย์กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมาราคาน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) สูงกว่า 40 บาท/กิโลกรัม ทางรัฐบาลติดตามข้อมูลและเห็นว่าอาจจะกระทบต่อผู้บริโภค หากยังคงสัดส่วนดีเซลที่บี 5 และที่สำคัญปาล์มราคาแพงทำให้ไบโอดีเซลราคาสูงไปด้วย ดังนั้น จึงมีการปรับลดส่วนผสมจากบี 7 มาเป็นบี 5 ในปัจจุบัน และจะลดไปสู่ระดับบี 3 อย่างไรก็ตาม ภาครัฐพร้อมจะทบทวนหากมีข้อมูลแสดงชัดเจนว่าราคาที่ขยับขึ้น ไม่ได้เกิดจากการกักตุนของใครกลุ่ม ๆ หนึ่ง และการดำเนินการต้องดูผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริโภค เกษตร
พล.อ.อนันตพร กล่าวภายหลังเป็นประธานลงนามเอ็มโอยูระหว่างค่ายรถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและปลั๊กอินไฮบริดจ์ 6 ค่ายกับ ปตท. ว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณถึงนโยบายรัฐบาลว่าจะส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ซึ่งนโยบายนี้รัฐบาลติดตามทั้งสถานการณ์โลกที่กำลังเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นและผลกระทบต่อผู้ประกอบรถยนต์ในไทย โดยเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะยังไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่ต้องมีทิศทางรองรับ ครม.จึงเห็นชอบแพ็กเกจส่งเสริมช่วงแรกที่จะยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้ารถอีวีประมาณ 5,000 คัน เพื่อเป็นตลาดนำร่องและจูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศ รวมทั้งจะเกิดการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยด้วย โดยตามเป้าหมายรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันในปี 2579
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.กล่าวว่า การลงนามวันนี้จะมีกาหารือร่วมกันต่อว่าทางค่ายรถยนต์และ ปตท.จะพัฒนาร่วมกันอย่างไร เพื่อสร้างความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้รถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบบัน ปตท.มีปั๊มน้ำมันกว่า 1,400 แห่งทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ที่จะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ได้ และยังพัฒนาเทคโนโลยีชาร์จไฟฟ้าทั้งระบบ Normal Charge และ Quick Charge รองรับ โดยสามารถใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ขับขี่ที่เข้ามาชาร์จไฟฟ้า เพื่อเก็บเป็นข้อมูลการใช้รถไฟฟ้าได้ ซึ่งปัจจุบัน ปตท.มีสถานีชารจ์ไฟฟ้า 4 แห่งยังไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกมาใช้บริการ ซึ่งหากนโยบายรัฐชัดเจนทั้งเรื่องการเก็บค่าไฟฟ้าและการอนุญาตจัดตั้งสถานีชาร์จ ปตท.พร้อมที่จะให้บริการบุคคลภายนอกและเตรียมเป้าหมายจะขยายสถานีชาร์จเพิ่มเป็น 20 แห่งในปี 2560 คาดลงทุน3-5 ล้านบาทต่อแห่ง
“รถไฟฟ้าจะมีบทบาทมากขึ้นใน 5ปีข้างหน้า ระยะนี้จะยังไม่สร้างผลกระทบต่อปั๊มน้ำมัน อย่างไรก็ตามจากเทรนด์ดังกล่าวโรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก จึงปรับตัวหันไปผลิตน้ำมันเพื่อปิโตรเคมีมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันปีนี้แม้จะผันผวน แต่ค่าเฉลี่ยคงอยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล” นายเทวินทร์ กล่าว
ด้านนางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมผู้จัดการใหญ่ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท นิสสันมอเตอร์ประเทศไทยจำกัด และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวว่า ค่ายรถยนต์ไม่ได้คัดค้านนโยบายรัฐบาลเรื่องอีวี แต่มีความเห็นที่แตกต่างกันในส่วนตัวมองว่าน่าจะมองถึงนโยบายระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้ารถอีวีจะเข้ามาในตลาดมากขึ้นควรจะมีทิศทางรองรับ โดยรถที่ใช้น้ำมันยังคงขายได้ เพราะมีความสะดวกสบายมากกว่า ส่วนรถอีวีเป็นเทรนด์ที่คนรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องการใช้ โดยในส่วนของนิสสันพร้อมจะลงทุนผลิตอีวีโดยใช้โรงงานที่มีอยู่ปรับเพิ่มไลน์ผลิต ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยจะได้ประโยชน์ในการผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานอีวี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะลงทุนวงเงินเท่าใด
ส่วนเรื่องค่าไฟฟ้าอีวีที่รัฐบาลจะกำหนดให้ใช้แบบทีโอยูที่ค่าไฟฟ้ากลางวันแพงกว่ากลางคืนนั้น ส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลต้องการส่งเสริมอย่างจริงจังน่าจะเป็นค่าเฉลี่ยมากกว่าไม่ควรให้เกิดความแตกต่างมากเกินไป
ด้านนายเทวินทร์ กล่าวว่า ปตท.ไม่มีแผนลงทุนสถานีรับส่งก๊าซแอลเอ็นจีในฟิลิปปินส์ โดยมีแผนลงทุนในไทยและเมียนมาร์เป้าหมายรองรับความต้องการของ 2 ประเทศ ส่วนในฟิลิปปินส์เป็นการลงทุนสถานีปั๊มน้ำมันเป็นหลัก โดยวางแผนลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย