กรุงเทพฯ 15 ส.ค. – การบินไทยตั้งเป้าเพิ่มรายได้ Code Sharing พร้อมตั้งเป้าผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินให้ได้ร้อยละ 80 ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2/59 มีผลขาดทุนสุทธิ 2,915 ล้านบาท
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าการทำงานหลังจากนี้จะพยายามเพิ่มอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ให้ถึงร้อยละ 80 จากปัจจุบันเฉลี่ยร้อยละ 75 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้เพิ่มอีกร้อยละ 5 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เนื่องจากเป็นการขายที่นั่งว่างให้ได้มากขึ้น รวมถึงร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรในการทำ Code Sharing เพิ่ม ซึ่งมีกว่า 10 สายการบิน โดยจะพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก Code Sharing จากปัจจุบันที่มีเพียงร้อยละ 5 ให้เป็นร้อยละ 20-25 เร็วที่สุด ถือเป็นสัดส่วนรายได้การทำ Code Sharing เทียบเท่ากับสายการบินชั้นนำอื่น
นอกจากนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ใช้ระบบการบริหารราคาใหม่ ซึ่งจะทำให้ปรับราคาขายได้รวดเร็วทันสถานการณ์ รับรู้ราคาคู่แข่งทุกวัน สามารถปรับราคาตามกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว และระบบการบริหารเครือข่ายเส้นทางบิน การวางแผนฝูงบิน ซึ่งจะปรับเวลาให้สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินได้ดีขึ้น โดยขณะนี้บริษัทมีการวางแผนตารางบินล่วงหน้า 4 ฤดูแล้ว โดยวางแผนจนถึงตารางบินฤดูหนาวปี 2561 โดยประเมินว่าการใช้ระบบใหม่จะเพิ่มรายได้ร้อยละ 2-3 โดยทุกร้อยละ 1 ที่เพิ่มขึ้นจะเท่ากับประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มเห็นผลหลังจากนี้ประมาณ 3 เดือน
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/2559 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 2,915 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถือว่าขาดทุนลดลงมาก โดยไตรมาส 2/2558 ขาดทุนสุทธิกว่า 12,800 ล้านบาท และผลประกอบการรวม 6 เดือน มีกำไรจากการดำเนินงาน 5,397 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,100 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกปี 2558 ที่มีขาดทุนจากการดำเนินงาน 297 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิถึง 8,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ดีดีการบินไทย กล่าวว่า บริษัทฯ ผ่านไตรมาสที่แย่ที่สุดของปี ซึ่งเป็นช่วง Low Season ซึ่งเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดของสายการบินมาแล้ว แม้ผู้โดยสารไตรมาส 2 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 อัตราบรรทุกผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 แต่รายได้และกำไรเพิ่มไม่มาก เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง ทำให้สายการบินต่าง ๆ มีการลดค่าโดยสารเพื่อแข่งขันกันมาก
ส่วนเหตุระเบิดหลายพื้นที่ นายจรัมพร กล่าวว่า หลายประเทศออกคำเตือนนักท่องเที่ยวของตัวเองให้ระมัดระวัง เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของการบินไทย แต่ไม่ได้ห้ามเดินทาง โดยจะต้องติดตามสถานการณ์ เพราะทั้งภูเก็ตและหัวหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบ ไม่มีการยกเลิกการเดินทางและหลังจากนี้หากเหตุการณ์นิ่งไม่มีอะไรเพิ่มไม่น่ามีปัญหาอะไร ต่างประเทศมองเป็นเหตุการณ์ภายในประเทศ.-สำนักข่าวไทย