กรุงเทพฯ 20 มิ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ข้อพิพาทการค้าจะเป็นประเด็นใหญ่ในการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนที่กรุงเทพฯ วันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ แม้เรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้และปัญหาชาวโรฮิงญาน่าจะเป็นประเด็นในการประชุมด้วยก็ตาม
นายดรู ทอมป์สัน นักวิจัยบัณฑิตวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยูในสิงคโปร์กล่าวว่า อาเซียนคือกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งจากข้อพิพาทการค้าจีนกับสหรัฐ เพราะผู้ผลิตรายใหญ่บางเจ้าจะหนีจากจีนมายังประเทศในอาเซียนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น ไฮเออร์ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนที่เริ่มย้ายฐานการผลิตมาเวียดนาม ไทย หรืออินโดนีเซียที่มีภาษีต่ำแล้ว ขณะเดียวกันข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐที่ยืดเยื้อทำให้จีนหาทางลงนามข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมทั่วอาเซียน
ทอมป์สันมองว่า จีนอาจใช้ความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจแบบครอบคลุมในระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ฟ (RCEP) เป็นช่องทางเข้าถึงตลาดที่มีประชากรรวมกันถึงครึ่งหนึ่งของโลก เพราะประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่อินเดียซึ่งต้องการรักษาตลาดของตนเองกำลังกดดันให้อาร์เซ็ฟรับรองว่าจะไม่บังคับให้อินเดียต้องเปิดตลาดรับสินค้าปลอดภาษีจากจีนที่ผ่านมาทางอาเซียน คาดว่าการเจรจาอาร์เซ็ฟในวันเสาร์นี้ นอกรอบการประชุมอาเซียนจะไม่มีความคืบหน้ามากนัก ด้านนายเฟร็ด บูร์ก บริษัทกฎหมายในเวียดนามเตือนว่า หากสงครามการค้าจีน-สหรัฐยืดเยื้อจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และจะเป็นข่าวร้ายกับทุกคน ประโยชน์ที่อาเซียนได้ในระยะสั้นจะหายไปเพราะอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลดลง
ส่วนข้อพิพาทเรื่องการอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้น่าจะเป็นประเด็นในการประชุมเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเรือประมงฟิลิปปินส์ชนกับเรือจีนเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์โทษกัปตันเรือจีนว่าเจตนาชนแล้วหนี ปล่อยให้ลูกเรือประมงฟิลิปปินส์ลอยคอกลางทะเล แต่จีนแย้งว่ากัปตันพยายามจะช่วยแล้วแต่ถูกเรือฟิลิปปินส์ล้อมจึงหนีไปเพื่อความปลอดภัย ขณะที่เมียนมาน่าจะถูกกดดันเรื่องกระบวนการส่งกลับชาวโรฮิงญาที่ชะงักงัน ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบังกลาเทศ หลังจากกองทัพเมียนมายกกำลังขึ้นในไปรัฐยะไข่ ตั้งแต่กลางปี 2560 ทำให้ชาวโรฮิงญาหนีไปบังกลาเทศกว่า 740,000 คน.- สำนักข่าวไทย