กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – กรมรางฯ จับมือทีดีอาร์ไอ พร้อมวางโครงสร้างราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายใหม่ให้ถูกลง ขณะที่ทีดีอาร์ไอยอมรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงกว่าสิงคโปร์ 20 %
นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างศึกษาระบบกํากับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศไทย โดยภายในปีนี้คาดว่าร่างพระราชบัญญัติกำกับกิจการขนส่งทางรางจะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ทำให้กรมการขนส่งทางรางมีบทบาทหน้าที่เต็มในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญลำดับต้น ๆ ของกรมการขนส่งทางราง คือ การปรับปรุงอัตราค่าโดยสารใหม่ ล่าสุดมีแนวคิดว่าจะนำเงินภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่นจากการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีมาอุดหนุนอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า เพื่อให้ราคาถูกลง หรือพิจารณาจากกองทุนอื่น ๆ นำมาดำเนินการลักษณะเดียวกัน
ด้านนายสุเมธ องกิตติกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการขนส่ง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนต้องแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1,000-1,200 บาท หรือคิดเป็นกว่า 12,000 บาทต่อปี และหากนำอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยเทียบกับประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ ถือว่ามีราคาสูงกว่าประมาณ 20% ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องออกนโยบายช่วยเหลือ โดยมองว่าควรเปิดให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการโดยสารรถไฟฟ้ามาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลประจำปี เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น และควรออกนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้หันมาใช้รถไฟฟ้า เพราะปัจจุบันด้วยราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้ผู้ที่โดยสารรถไฟฟ้าส่วนมากเป็นคนชั้นกลาง
อย่างไรก็ตาม นอกจากอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากการที่ประชาชนมีการเดินทางข้ามระบบ ทำให้ต้องเสียค่าแรกเข้าเพิ่มเติม และส่งผลให้ประชาชนส่วนมากเดินทางตามแนวรถไฟฟ้าหลักที่เป็นระบบเดียวกันเท่านั้น ดังนั้น การพัฒนาตั๋วร่วมให้เป็นรูปธรรม จึงเป็นสิ่งเร่งด่วนที่ควรทำเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย