ทำเนียบฯ 9 ม.ค. – บอร์ด EEC เห็นชอบ จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สั่ง รฟท.เจรจาแก้สัญญา ภายใต้ลงทุนแบบ PPP คาดเริ่มงานก่อสร้าง เม.ย.68
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 1/2568 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบความคืบหน้าการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ของกลุ่ม CP โดยต้องหารือร่วมกันเพิ่มเติมระหว่าง สำนักงานอีอีซี และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ครั้งนี้ ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยมอบหมายให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการอีอีซี ในเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track) หลังเสนอ ครม.ไปแล้ว
โดยขั้นต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญา กลุ่ม CP จะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอให้ กพอ. และ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย รฟท.และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ และ รฟท.จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ได้ทันที คาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้
บอร์ดอีอีซี ยังเห็นชอบเพิ่มเติมพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพเรือ เพื่อให้เขตส่งเสริมฯ ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งได้ปรับการออกแบบ เพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบินบริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก) และเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการบินและเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน
ขณะที่ประชุมเห็นชอบ การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เนื้อที่ประมาณ 1,172 ไร่ บริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัวและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ ธุรกิจ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ธุรกิจการบิน และโลจิสติกส์ ดิจิทัล และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา คาดมีเงินลงทุนในพื้นที่ประมาณ 156,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ โดยการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศในสัดส่วนถึงร้อยละ 90 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในพื้นที่โครงการ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสสร้างอาชีพผ่านการจ้างงานอีกประมาณ 20,000 คน และสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่องให้แก่ชุมชนในพื้นที่ เช่น ร้านค้า โรงแรม หอพัก ฯลฯ ถือเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ.-515- สำนักข่าวไทย