ตุรกี 23 พ.ค. – คลังถก ธปท.ปลดล็อคปล่อยกู้บ้านให้แบงก์รัฐ หลังมาตรการ LTV กระทบการกู้ซื้อบ้านหลังแรกของผู้มีรายได้น้อย ด้าน ธอส.เดินหน้าออกสลากไฮโซระดมเงินปล่อยกู้ดอกต่ำ 3%
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เรียก ธอส.และธนาคารออมสินให้ข้อมูลผลกระทบมาตรการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่จะไปหารือกับ ธปท.ให้ผ่อนผันเงื่อนไขการปล่อยกู้บ้านให้กับแบงก์รัฐเฉพาะกิจที่ปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยและส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้บ้านหลังแรก
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ธอส.ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งการปล่อยกู้ไตรมาสแรกปี 2562 โดยเฉพาะเดือนมีนาคมอนุมัติกู้ซื้อบ้านถึง 19,000 ล้านบาท เพื่อหนีมาตรการ LTV ซึ่งมีผลบังคับเดือน เมษายน ทำให้การปล่อยกู้ของธนาคารได้รับผลกระทบทั้งมาตรการ LTV และมีวันหยุดมาก ทำให้ปล่อยกู้ได้ 9,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 13,000 ล้านบาท สำหรับการปล่อยกู้ครึ่งเดือนแรกของพฤษภาคม 2562 ยอดปล่อยกู้ลดลง 30 – 35% หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ปีนี้ ธอส.ปล่อยกู้ต่ำกว่าเป้าหมาย 60,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 203,000 ล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังว่าจะหารือกับ ธปท.ให้ผ่อนผันเกณฑ์ LTV กับแบงก์รัฐได้หรือไม่
“มาตรการ LTV เป็นมาตรการที่ดีถูกต้องตามทฤษฎี เหมาะสำหรับการคุมการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นผู้มีรายได้ดี การกำหนดให้ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 95% ของราคาประเมินไม่กระทบกับผู้มีรายได้ดี แต่มาตรการ LTV ไม่เหมาะกับการปล่อยกู้บ้านของ ธอส.ที่เป็นลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรก เช่น ขอกู้ 1 ล้านบาท ต้องหาเงินมาดาวน์ 50,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องลำบากที่จะหาเงินดังกล่าว ทำให้การการปล่อยกู้บ้านหลังแรกของ ธอส.ได้รับผลกระทบมาก” นายฉัตรชัย กล่าว
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ธนาคารเชื่อว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศจะต้องมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม ทั้งการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำและการผ่อนผันเกณฑ์ LTV ส่วนอัตราดอกเบี้ยครึ่งปีหลังคาดว่าจะทรงตัว ธปท.คงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว
สำหรับการปล่อยกู้โครงการบ้านล้านหลังรอบแรกมีผู้จองสิทธิ์ 1.27 ล้านราย ยื่นคำกู้ 7,300 ราย วงเงินกู้ 5,200 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 6,300 ราย เป็นเงินกู้ 4,300 ล้านบาท เฉลี่ยปล่อยกู้เดือนละ 400 – 500 ล้านบาท โดยธนาคารจะเปิดให้จองสิทธิ์กู้รอบ 2 เดือนกันยายน 2562 โดยโครงการบ้านหลังแรกได้รับอนุมัติวงเงินปล่อยกู้จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้น 50,000 ล้านบาท และขยายเวลาการปล่อยกู้จากสิ้นปี 2563 ไปถึง 2564
กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า แผนการออกสลากออมทรัพย์ 3 ชุด ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยชุดแรกจะเริ่มจำหน่าย ได้แก่ สลาก Premium ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท 27,000 ล้านบาท ออกรางวัลทุกวันที่ 16 ของเดือน 27 รางวัล/เดือน รางวัลละ 200,000 บาท อายุสลาก 3 ปี ทำให้ผู้ถือสลากมีโอกาสลุ้นรางวัลถึง 972 รางวัล และถูกรางวัลสูงถึง 0.1% และเมื่อฝากครบ 3 ปี จะให้ผลตอบแทนหน้าสลากสูงถึง 1.4% ต่อปี เทียบเท่ากับเงินฝากประจำหากถูกรางวัลเพียง 1 ครั้ง ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8.07% และยังสามารถถือสลากต่อเพื่อมอบเป็นมรดกได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกรางวัลครั้งแรกเดือนกันยายนนี้
ส่วนสลากอีก 2 ชุด คือ ราคาหน่วยละ 10 ล้านบาท จำหน่าย 30,000 ล้านบาท จะออกรางวัลทุกไตรมาส รางวัลละ 3 ล้านบาท 3-5 รางวัล ผู้ซื้อสลากมีโอกาสถูก 1 ใน 3,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารทำความเข้าใจกับพนักงานว่าสลากออกทรัพย์ของ ธอส.เป็นการขายผลตอบแทนและโอกาสไม่เหมือนกับสลากแบงก์รัฐแห่งอื่นที่มีโอกาสถูกรางวัลเพียง 0.0001% เท่านั้น ขณะที่สลาก ธอส.ราคาหน่วยละ 500 บาท จำหน่ายอีก 50,000 ล้านบาท คาดว่าจะออกจำหน่ายต้นปีหน้า โดยเงินที่ระดมได้จากการออกสลากทั้งหมดจะกันออกมาปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อยเป็นการเฉพาะในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 3% เพราะต้นทุนการออกสลากต่ำประมาณ 1.7% เทียบต้นทุนเฉลี่ยของแบงก์ที่ระดมเงินจากเงินฝากและแหล่งอื่น ๆ อยู่ที่ 1.9-2.1%
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนของการออกสลาก ธอส.อยู่ระหว่างรอประกาศกรมสรรพากรเว้นการเก็บภาษีเงินได้จากเงินรางวัลและดอกเบี้ยที่ได้จากการซื้อสลาก โดยผู้ที่สนใจซื้อสลาก Premium ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท จะต้องนำเงินมาฝากกับธนาคาร เพื่อเป็นการจองสิทธิ์เดือนมิถุนายนนี้ หลังจากนั้นคาดว่าสลากจะถึงมือผู้จองเดือนสิงหาคม และออกรางวัลครั้งแรก 16 กันยายน 2562
สำหรับแผนงานของธนาคารในอนาคต จะจัดทำสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเองและปลอดภาระหนี้ สามารถนำมาจำนองกับธนาคารเพื่อรับเงินเป็นรายเดือน โดยกำหนดพื้นที่นำร่องที่อยู่อาศัยต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยธนาคารกำหนดให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 80 ปี วงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 50% ของราคาประเมินและสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่พิจารณารายได้ของผู้กู้ อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปีตลอดอายุสัญญากู้ ระยะเวลาขอรับเงินได้นานสูงสุด 25 ปี หรือจนถึงผู้กู้อายุ 85 ปี ธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือน อาทิ วงเงินกู้ 2 ล้านบาท หากผู้กู้อายุ 65 ปี ระยะเวลาการกู้ 20 ปี จะได้รับเงินจากธนาคารเดือนละ 8,300 บาท ขณะนี้มีผู้สนใจมาสอบถามกับธนาคาร 4-5 ราย
สำหรับผลการดำเนินงานวันที่ 31 มีนาคม 2562 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 44,041 ล้านบาท 35,971 บัญชี โดยเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท 21,319 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,128,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.88% สินทรัพย์รวม 1,167,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.95% เงินฝากรวม 945,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.58% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 49,295 ล้านบาท คิดเป็น 4.37% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.03% โดยมีอัตราส่วนการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 166.81% เพิ่มขึ้น 9.60% มีรายได้ดอกเบี้ย 12,971 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย 5,432 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 2,866 ล้านบาท และล่าสุดวันที่ 30 เมษายน 2562 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 53,348 ล้านบาท คาดว่าเมื่อถึงสิ้นไตรมาส 2 ของปี 2562 การปล่อยสินเชื่อใหม่จะเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับเป้าหมาย 6 เดือนที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปี 2562 ที่ 203,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองของที่อยู่อาศัยราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมของรัฐบาลที่คาดว่าจะทยอยประกาศในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2562 ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังของทุกปีจะเร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรกตามภาวะการแข่งขันของตลาดที่อยู่อาศัย เพราะผู้ประกอบการจะจัดทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายและปิดยอดให้ได้ตามเป้าหมายในช่วงดังกล่าว
ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตอนนี้ สศค.ติดตามผลกระทบมาตรการ LTV ที่เกิดขึ้นกับแบงก์รัฐว่าจะทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อบ้านลดลงต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากก่อนมาตรการมีผลได้มีการเร่งโอน ทำให้ยอดการโอนเดือนเมษายนลดลง ซึ่งต้องดูต่อไปอีกระยะหนึ่งว่าเป็นการลดลงชั่วคราวหรือเป็นการลดลงถาวรทุกเดือน เพื่อจะได้หารือกับ ธปท.ได้อย่างถูกต้อง
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ให้เหตุผลว่ามาตรการ LTV ไม่กระทบกับการปล่อยกู้บ้านหลังแรก เป็นมาตรการคุมการปล่อยกู้บ้านหลังที่ 2 และ 3 เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อบ้านเก็งกำไร และการปล่อยกู้บ้านแบบมีเงินถอน เพราะ ธปท.พบว่าธนาคารพาณิชย์บางแห่งปล่อยกู้ซื้อบ้านให้กับผู้กู้ถึง 110-115% ของราคาประเมิน จึงต้องออกมาตรการนี้เพื่อดูแลเรื่องเสถียรภาพ จึงต้องรอดูผลของมาตรการนี้อย่างแท้จริงอีกระยะหนึ่ง . – สำนักข่าวไทย