อาคารสุขประพฤติ 15 พ.ค.- “พรเพชร” พร้อมทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา หากได้รับความไว้วางใจ ระบุกฏหมายไม่ห้ามกรรมการสรรหาเป็น ส.ว. แจง “พล.อ.ปรีชา” ลาประชุมแค่ 46 ครั้ง
นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เดินทางมาแสดงตนเป็น ส.ว. พร้อมระบุว่า หากได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานวุฒิสภา ก็พร้อมจะทำหน้าที่ แต่ก็เชื่อว่าทุกคนพร้อมและเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งเช่นกัน และว่า บทบาทของ สนช. และ ส.ว. มีความแตกต่างกันในภาระหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
“หน้าที่ของ สนช. เป็นทั้ง ส.ส. และ ส.ว. อำนาจโดยตรงของ สนช. คือ พิจารณาร่างกฎหมายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ ส.ว.มีหน้าที่นอกเหนือจากพิจารณากฎหมาย คือ ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ดำเนินการตามแผนปฏิรูปแห่งชาติ และที่สำคัญคือ การให้ความเห็นชอบเลือกนายกรัฐมนตรี” นายพรเพชร กล่าว
ส่วนที่มีการมองว่า ส.ว.จะเป็นเอกภาพเหมือนกับ สนช.หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า หากหมายถึงการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ก็ควรเป็นเอกภาพ แต่ก็สามารถมีความเห็นต่างได้
ต่อข้อถามว่า จะมีการหารือกันภายใน ส.ว. เพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันหรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ยังไม่มีวาระว่าจะหารือกัน
นายพรเพชร ในฐานะอดีตประธาน สนช. ยังชี้แจงกรณีของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดประชุมบ่อยครั้ง ว่า สนช.มีการประชุมทั้งหมด 387 ครั้ง พล.อ.ปรีชา มาประชุม 341 ครั้ง ลาประชุม 46 ครั้ง ในช่วงปี 2557-2559 เป็นส่วนใหญ่ ส่วนจำนวนการลงมติทั้งหมดของ สนช. 7,085 ครั้ง พล.อ.ปรีชา ลงมติจำนวน 5,097 ครั้ง ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกของการเป็น สนช. ไม่ได้ลงมติกว่า 2,000 ครั้ง อย่างไรก็ตาม พล.อ.ปรีชา ได้ร่วมการประชุมทั้งในต่างจังหวัดและต่างประเทศด้วย
“การเป็นน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ แล้วได้รับเลือกเป็น ส.ว. ผมไม่เกี่ยวข้อง และการชี้แจงครั้งนี้ไม่ได้มีใครมาขอให้ชี้แจงแทน แต่ผมต้องการมาชี้แจงเอง ในฐานะอดีตประธาน สนช.” นายพรเพชร กล่าว
นายพรเพชร ยังกล่าวถึงกระบวนการสรรหาบุคคลเข้ารับตำแหน่งว่า หากผู้ที่เป็นกรรมการสรรหา แล้วได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ก็จะลุกขึ้นออกจากห้องประชุมในช่วงของการคัดเลือก ซึ่งอ้างอิงตามกระบวนการปกติของกฎหมาย ส่วนเรื่องความเหมาะสมของการมาดำรงตำแหน่งนั้น กฎหมายให้เป็นเรื่องของ คสช. และกฎหมายไม่ได้ห้ามให้กรรมการสรรหามาเป็น ส.ว.
ต่อข้อถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว.เป็นพี่น้องกับรัฐมนตรีหลายคน นายพรเพชร กล่าวว่า ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามญาติของ ส.ส. มาเป็น ส.ว. แต่ห้ามสายเลือดตรง คือ บิดา มารดา สามี ภรรยา และบุตร.- สำนักข่าวไทย