รัฐสภา 29 มี.ค.-สถาบันพระปกเกล้าจับมือรัฐสภา-ป.ป.ช. ให้ความรู้เรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน หวังเป็นมาตรการคัดกรองคน – ตรวจสอบ ป้องกันทุจริต การเข้ามาหาประโยชน์จากตำแหน่ง ด้าน ปธ.ป.ป.ช.เล็งให้ตำรวจ-ศุลกากร-สรรพสามิตยื่นด้วย
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ภายใต้โครงการ สร้างระบบนิติบัญญัติให้สุจริต โปร่งใส และยกระดับการตรวจสอบจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาและบุคคลในวงงานรัฐสภาด้วยพลังพลเมือง โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง สมาชิกรัฐสภา ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและบุคคลากรในวงงานรัฐสภา เข้าร่วมกิจกรรม
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวรายงาน ว่า สถาบันพระปกเกล้าในฐานะสถาบันวิชาการในกำกับของประธานรัฐสภา มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความรู้ พัฒนาทักษะการปฏิบัติงานและส่งเสริมค่านิยม ของนักการเมืองให้มีเจตนารมณ์ในการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ปัจจุบันบุคคลในวงงานนิติบัญญัติซึ่งมีตำแหน่งเป็นนักการเมืองหรือมีตำแหน่งทางการเมือง อาจยังขาดความเข้าใจในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นข้อกำหนดสำคัญที่ต้องปฏิบัติทั้งก่อนการดำรงตำแหน่งและภายหลังออกจากตำแหน่ง จึงเห็นควรให้จัดกิจกรรมสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ในความสำคัญและความจำเป็นของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ สุจริตและโปร่งใส
ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับสมาชิกรัฐสภาเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นหน้าที่เฉพาะตัว ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องกระทำ หากสมาชิกรัฐสภาจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้ สินหรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบอาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีโทษทางอาญาตามกฎหมายยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เป็นแนวคิดการแสดงความบริสุทธิ์ใจของสมาชิกว่ามีกิจการ ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใด เพื่อให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบตรวจสอบและเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบ
“การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกหลายคน อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ หรือทรัพย์สินที่มิควรได้สำหรับตนเอง หรือผู้อื่น ดังนั้น การเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินให้ประชาชนได้รับทราบ จึงเปรียบเสมือนการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า จะไม่กระทำการใดอันเป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง อันเป็นสาระสำคัญของการเปิดเผย บัญชีทรัพย์สินฯ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้” ประธานวุฒิสภา กล่าว
ด้านพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ระบบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในหน้าที่ของป.ป.ช. นอกจากต้องตรวจสอบเรื่องความถูกต้องและการมีของทรัพย์สินหนี้สินแล้ว ต้องเน้นตรวจสอบความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินที่ผิดปกตินำไปสู่ความร่ำรวยผิดปกติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งวัตถุประสงค์ที่ต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเมืองและระบบราชการ สำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องจับผิด แต่ส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐมีคุณธรรม
“เพื่อส่งเสริมการปราบปรามการทุจริต เพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการทุจริตจะถูกแปลงเป็นทรัพย์สินอื่นไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเพื่อปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินที่ได้มาจากการคอรัปชั่น ดังนั้น มาตรการการยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นการคัดกรองบุคคลเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ปิดโอกาสผู้ที่มีความไม่สุจริตเข้าสู่ตำแหน่งสูงและใช้ตำแหน่งหน้าที่นั้นในการกระทำทุจริต และเมื่อยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้ป.ป.ช.ตรวจสอบแล้ว ต้องเปิดเผย เพื่อให้คนที่มีอำนาจตรวจสอบสูงสุดคือประชาชนและสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบว่าทรัพย์สินที่ยื่นมานั้นครบถ้วนหรือไม่ เพราะคนที่รู้ดีที่สุดอาจจะเป็นพี่น้องประชาชนที่เข้าไปสัมผัส ตรงนี้อาจจะเป็นอำนาจหรือเราจะเรียกว่า ประชาชนจะมาช่วยกันเป่านกหวีด เมื่อพบการทุจริต” ประธานป.ป.ช. กล่าว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า กรรมการป.ป.ช.เองก็ต้องยื่นทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งป.ป.ช.ถูกตรวจเข้มโดยวุฒิสภาเพราะตรวจเพียง 9 คน ในส่วนตนเคยถูกให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลยุติธรรม ตามมาตรา 102 เจ้าพนักงานของรัฐตามที่คณะกรรมการป.ป.ช.กำหนด รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงานป.ป.ช.ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป พนักงานไต่สวน เจ้าพนักงานตรวจสอบที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยเช่นกัน
ประธานป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในอนาคตป.ป.ช.เสนอแก้ไขประกาศเพิ่มเติมเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงเช่น กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและตำรวจต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน หนี้สินต่อป.ป.ช. ทั้งหมด เพราะมีโอกาสประพฤติมิชอบได้ โดยให้ยื่นเอาไว้ทั้งหมด หากวันใดมีเรื่องกล่าวหาสามารถหยิบยกมา ตรวจสอบเปรียบเทียบได้ ส่วนที่มีความกังวลว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากหากให้เจ้าหน้าที่ยื่นทั้งหมดจะมีจำนวนมาก พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า จะดูในกรณีที่มีข้อกล่าวหาเท่านั้น ปัจจุบันตรวจสอบที่ยื่นมาได้ทั้งหมด.-312.-สำนักข่าวไทย