ธปท. 7 พ.ค. – ธปท.ลงนามร่วมกับนอนแบงก์ 19 แห่ง เพื่อเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2 โดยลูกหนี้ของนอนแบงก์สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึงร้อยละ 80 ของจีดีพีมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประชาชนที่มีอายุ 29-30 ปี เป็นหนี้เสียถึง 1 ใน 5 โครงการคลินิกแก้หนี้จะช่วยลูกหนี้ที่มีหนี้บัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับเจ้าหนี้หลายราย
โดยบริษัท บริหารสินทรัพย์ สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM จะเป็นหน่วยงานกลางที่เจรจากับลูกหนี้แทนเจ้าหนี้ โครงการระยะที่ 2 ได้ขยายขอบเขตให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของนอนแบงก์ ซึ่งจะทำให้โครงการสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในวงกว้างและเบ็ดเสร็จมากขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ของนอนแบงก์มีจำนวนกว่าร้อยละ 80 ของหนี้ทั้งหมด ในครั้งนี้มีผู้ประกอบการนอนแบงก์ 19 แห่งเข้าร่วมโครงการ เมื่อรวมกับธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งที่ร่วมโครงการอยู่แล้ว รวมเป็น 35 แห่ง จะทำให้โครงการคลินิกแก้หนี้ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเกือบร้อยละ 90 โดยลูกหนี้ของนอนแบงก์ สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ อายุไม่เกิน 65 ปี มีหนี้เสียค้างเกินกว่า 3 เดือน กับธนาคารตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562 และมียอดหนี้ไม่เกิน 2 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องยังไม่ถูกดำเนินคดี หรือถูกดำเนินคดีแล้วแต่ยังไม่มีคำพิพากษา และมีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมโครงการต้องไม่ก่อหนี้ใหม่ ในระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งให้เวลาระยะเวลาถึง 10 ปี
สำหรับโครงการคลีนิคแก้หนี้ในระยะที่ 1 มีลูกหนี้ที่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จและลงนามสัญญาแล้ว 1,500 ราย มูลหนี้ 405 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มีเจ้าหนี้ 3 รายขึ้นไป เงินต้นเฉลี่ย 300,000 บาท โดยลูกหนี้ที่มีวงเงินหนี้ 100,000 บาท จะชำระหนี้เพียง 1,200 บาทต่อเดือน เนื่องจากโครงการคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกินร้อยละ 7
เสนอสั่ง รพ.เอกชน ติดป้ายราคายาชัดเจน
ในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์วันนี้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลโครงสร้างต้นทุนราคายาพบว่า โรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนยาใกล้เคียงกัน แต่การคิดราคาแตกต่างกันมาก แม้จะเป็นยาชนิดเดียวกัน โดยมีกำไรตั้งแต่ไม่มากจนสูงถึงระดับ 3 เท่า 5 เท่า 8 เท่าและสูงสุด 900% ซึ่งรายการยาที่นำมาวิเคราะห์ได้ยึดตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิ์ทุกที่ มีรายการยาจำเป็น 3,892 รายการ จากบัญชีข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานของไทยที่มีอยู่ 30,103 รายการ
มาตรการที่จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการหรือ กกร. พิจารณาวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 จะเป็นมาตรการที่นำมาใช้ภายใต้กฎหมายที่หน่วยงานเกี่ยวข้องมีอยู่ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องเป็นธรรมทั้งกับผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มี พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ สามารถกำหนดให้มีการปิดป้ายแสดงราคา หากมีการจำหน่ายเกินราคา ก็จะมีโทษตามกฎหมาย
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า มาตรการที่คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาและจะนำเสนอให้ กกร. คือ การกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนเผยแพร่ราคายา เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์บนเว็บไซต์ของโรงพยาบาล และต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน และให้โรงพยาบาลยอมให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยาไปซื้อจากภายนอกได้ โดยในใบสั่งยาแพทย์ต้องเขียนชื่อยาให้ชัดเจน ทั้งชื่อทางการค้า ชื่อทางวิทยาศาสตร์ และยังเสนอให้ใช้มาตรการเพิ่มเติมในการดูแลผู้บริโภคด้านการรักษาพยาบาล โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดูแลให้ความเป็นธรรมบริการทางการแพทย์ ส่วนกลางมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่ดูแลและให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคกรณีการเข้าไปรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกคิดค่าบริการจากการให้บริการเกินความจริง เช่น ปวดท้อง ปวดหัว แต่จับทำซีทีสแกน ทำให้ถูกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มและเกินจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากอีกด้วย .- สำนักข่าวไทย