กรุงเทพฯ 11 เม.ย. – กระทรวงพลังงานเผยหน้าร้อนปีนี้การใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นตามอุณหภูมิ คาดพีคสูงกว่าปีก่อนร้อยละ 4.6 ที่ 35,889 เมกะวัตต์ พร้อมรณรงค์มาตรการ 4 ป “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน”
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตไฟฟ้าเดือนมกราคม 2562 มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ 56,034 เมกะวัตต์ สำหรับหน้าร้อนปีนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) จะเกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งปี 2561 อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น.โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์ คือ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) ที่อาจเติบโตขึ้นและประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 และสภาพอากาศที่แปรปรวน คณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าพีคปี 2562 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปี 2561 ซึ่งปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนจะอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงหรือลดลง 1 องศาเซลเซียสจะมีผลต่อการใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 เมกะวัตต
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวถึงมาตรการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” ที่จะขอความร่วมมือจากประชาชน ว่า ควรปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศาจะช่วยประหยัดไฟเพิ่มร้อยละ 10 ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์เบอร์ 5 แบบใหม่ที่มี 1-3 ดาว โดยแต่ละดาวจะมีประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้าได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และเปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้าหรือหลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ 13.00-15.00 น.เพื่อลดพีคไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และ 19.00-21.00 น.เพื่อลดพีคไฟฟ้าในช่วงกลางคืน.-สำนักข่าวไทย