รัฐสภา 25 ส.ค.-“สมชาย แสวงการ” ย้ำ ส.ส.และ ส.ว.มีสิทธิ์เท่ากันในการเสนอชื่อ แต่เคารพมติของ กรธ. พร้อมแนะกำหนดกรอบเวลาการยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ป้องกันการยืดเยื้อจนเกิดวิกฤติ
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงมติคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ให้ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในทุกกรณี ว่า มติที่ออกมายังไม่ได้เป็นถ้อยคำที่ กรธ.ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นหลักการเบื้องต้น เชื่อว่าจะมีการปรับแก้เพิ่มอีก ขณะเดียวกันหาก กรธ.ยืนยันตามมติที่ออกมา ก็ต้องเคารพ สุดท้ายการวินิจฉัยอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่โดยรวมแล้ว ประเด็นหลักก็เป็นไปตามที่ สนช.ชี้แจง คือ ส.ว.มีส่วนร่วมลงมติ และในขั้นตอนแรกก็ให้ใช้บุคคลจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา เพียงแต่มีความเห็นต่างในบางเรื่องเท่านั้น
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ประเด็นที่มีความเห็นต่างกัน คือ กระบวนการยกเว้นการเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่ สนช.เห็นว่าควรกำหนดเป็นกรอบเวลา เพื่อป้องกันการยืดเยื้อจนเกิดวิกฤติ ซึ่ง กรธ.ก็ยืนตามเดิม คือให้ ส.ส.เข้าชื่อเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด เพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาให้มีมติ 2 ใน 3 ยกเว้นเงื่อนไขดังกล่าว
“อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเห็นว่าเมื่อยกเว้นการเลือกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาแล้ว ก็ควรให้ ส.ส.และ ส.ว.มีสิทธิ์เท่ากันในการเสนอชื่อ ไม่ได้เป็นการได้คืบจะเอาศอกตามที่มีหลายฝ่ายบิดเบือน แต่เมื่อ กรธ.ยืนยันว่าต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น สนช.ก็จะไม่มีการเสนอหรือเข้าไปหารือกับ กรธ.อีกครั้ง เพราะโดยรวมแล้วถือว่าได้ตามเจตนารมณ์กว่าร้อยละ 80-90 แล้ว” นายสมชาย กล่าว
ส่วนการที่ กรธ. ไม่ได้ปรับแก้ไปตามความต้องการของ สนช.อาจเป็นเพราะคำถามพ่วงยังไม่มีความชัดเจนนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ตัวคำถามพ่วงมีความชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ.-สำนักข่าวไทย