ก.เกษตรฯ 10 เม.ย. – รัฐมนตรีเกษตรฯ เตรียมเสนอ ครม.แก้กฎหมายกองทุนฟื้นฟูฯ 3 มาตรา เพื่อให้การบริหารงานส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สินสะสมให้มีรายได้เลี้ยงชีพและปลดหนี้ได้หมด
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการกองทุนและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 3 มาตรา ตามที่กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) นำโดยนายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย พร้อมกลุ่มมวลชนประมาณ 500 คน ที่เดินทางมายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อติดตามข้อเรียกร้องที่แจ้งไว้แก่ กฟก. โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ คือ ขอให้แก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 16 แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร เพิ่มจาก 2 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้คณะกรรมการสามารถทำงานได้นานขึ้นและประหยัดงบประมาณเลือกตั้งจำนวนมาก มาตรา 23 แก้ไขที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาจังหวัด ซึ่งตามที่กำหนดไว้เดิมในพ.ร.บ.ต้องมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงปรับเป็นให้สามารถจัดหาที่ตั้งของสำนักงานได้ตามความจำเป็นมากขึ้น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และมาตรา 37/9 ปรับปรุงแก้ไขวิธีการชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีหลักทรัพย์ค้ำประกันและบุคคลค้ำประกันให้กองทุนสามารถซื้อหนี้ที่มีบุคคลค้ำได้ด้วย ทำให้สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ครอบคลุมมากขึ้น จึงได้ลงนามถึงนายสมคิด เพื่อให้ความเห็นชอบและดำเนินการต่อไป
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ลงนามในคำสั่งและประกาศตามข้อเรียกร้องที่ขอให้ออกระเบียบ กฟก. สำหรับใช้เสนอโครงการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพของสมาชิก กฟก. เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กฟก. ส่วนการออกคำสั่งให้คณะทำงานการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิก กฟก. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิก กฟก.กว่า 3,000 ราย ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือภายใต้มติดังกล่าว แต่หมดระยะเวลาของโครงการ ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก
นายยศวัจน์ กล่าวว่า กลุ่ม สกท.พึงพอใจในการเร่งรัดแก้ปัญหาและดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เข้าใจดีว่าการแก้ไขข้อกฎหมายต้องใช้เวลา เนื่องจากต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้วนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนการออกคำสั่งให้มีคณะทำงานการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินนั้น จะช่วยให้เกษตรกรสามารถร่วมกับ กฟก.เจรจาจัดการหนี้สินกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ด้วยวิธีการที่ไม่เสียวินัยการเงินการคลัง สิ่งที่ผู้แทนเกษตรกรพึงพอใจที่สุด คือ การที่รัฐมนตรีเกษตรฯ ออกระเบียบ กฟก. สำหรับใช้เสนอโครงการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพของสมาชิก กฟก. ซึ่งมีเป็นครั้งแรกใน 20 ปีนับแต่ กฟก.ก่อตั้งมา ทั้งนี้ ระเบียบดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรสามารถได้รับการสนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี เมื่อเกษตรกรมีรายได้จะสามารถชำระหนี้ โดยรัฐบาลไม่ต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปซื้อหนี้จากสถาบันการเงินอีกต่อไปและเกษตรกรจะสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย