อุดรธานี 17 ส.ค. – กองทุนฟื้นฟูฯ เร่งแก้ปัญหาหนี้เกษตรกร 3 หมื่นราย หลังทยอยส่งมอบคืนโฉนด และชำระหนี้แทนเกษตรกร เตรียมรองรับกฎหมายฉบับใหม่เข้าแก้ไขหนี้บุคคลค้ำประกัน
นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นประธานเปิดเวทีเจรจาหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ของเกษตรกร หลังจากกฎหมายฉบับใหม่ของกองทุนฟื้นฟูฯ เปิดทางให้เข้าไปดูแลมูลหนี้จาก 2.5 ล้านบาทต่อราย เพิ่มเป็น 5 ล้านบาท โดยขอย้ำให้สถาบันการเงินชะลอการขายทอดตลาดออกไปก่อน เมื่อได้จัดอบรมอนุกรรมการระดับจังหวัด เพื่อเข้าไปดูแล ด้วยการแยกประเภทหนี้ จัดกลุ่มเกษตรกร จึงได้เจรจากับสมาคมธนาคารไทยมาหลายครั้ง เพื่อร่วมแก้ปัญหาหนี้ให้กับเกษตรกร โดยสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะได้รับเงินคืนไม่ต่ำกว่าทุนดำเนินการ
นายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร รักษาการเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ (กฟก.) กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลทยอยคืนโฉนดที่ดินและสัญญาเงินกู้คืนให้กับเกษตรกร เมื่อเข้าไปรับซื้อหนี้เปลี่ยนจากสถาบันการเงิน สหกรณ์ องค์กรเจ้าหนี้เปลี่ยนมาเป็นกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อเกษตรกรชำระเงินครบกำหนดแล้ว พื้นที่ 55,000 ไร่ มูลหนี้ 1,759 ล้านบาท จากเป้าหมายเตรียมส่งคืนโฉนด 30,000 ราย โดยขั้นตอนหลังจากนี้กำหนดให้เกษตรกรต้องจัดทำแผนฟื้นฟูเป็นรายกลุ่ม เพื่อยื่นแผนบริหารจัดการให้กับสมมาชิก ทั้งการฝึกอบรม การปลูกพืช ปศุสัตว์ ประมง อีกทั้งเมื่อกฎหมายลูกฉบับใหม่กำหนดให้บอร์ดกองทุนฟื้นฟูมีวาระ 4 ปี ทำให้การบริหารจัดการหนี้ต่อเนื่อง จึงตั้งเป้าหมายฟื้นฟูหนี้เกษตรกรจากเจ้าหนี้ 32,000 องค์กร จำนวน 1 ล้านคน
สำหรับการแก้ปัญหนี้บุคคลค้ำประกัน กฎหมายฉบับใหม่ของกองทุนฟื้นฟูฯ ผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว ขณะนี้รอการประกาศบังคับใช้เปิดทางให้เข้าไปซื้อหนี้บุคคลค้ำประกันได้ เพราะปัจจุบันเกษตรกรมีหนี้บุคคลค้ำประกันสัดส่วนร้อยละ 70 ของหนี้สมาชิกกองทุนฟื้นฟู จากเกษตรกร 380,000 ราย หลังจากนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ต้องเข้าไปบริหารจัดการหนี้ให้ประสบความสำเร็จภายใน 2 ปี เฉลี่ยหนี้ส่วนบุคคลไม่เกิน 1 แสนบาท กำหนดให้เกษตรกรรวมกลุ่มยื่นแผนบริหารจัดการหนี้ต่อกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อโอนมาอยู่ในการดูแล คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ยอดหนี้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย.-สำนักข่าวไทย