กทม.8 เม.ย.-นักโภชนาการชวนลูกหลานทำอาหารเมนู 2:1:1 แบ่งจานอาหาร 4 ส่วน ผัก2ส่วน ,ข้าวหรือแป้ง 1ส่วน เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 1 ส่วน และสูตร 6:6:1 ปรุงน้ำตาลและน้ำมันไม่เกิน6 ช้อนชา เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน แสดงความรักความกตัญญูต่อผู้สูงวัย เนื่องในเทศกาลสงกรานต์และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินไว้ว่าในปี 2583 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ33 และเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุสูงที่สุดในอาเซียน การช่วยให้ประเทศก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ควรเริ่มรักษาสุขภาพ ซึ่งการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม อย่างง่ายและใกล้ตัว คือเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อยู่เสมอ ควบคุมปริมาณการกินในสัดส่วนที่พอดี โดยใช้แบบจำลองจานอาหาร หรือรู้จักกันในชื่อ เมนู 2:1:1 แบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน 2 ส่วนแรกเป็นผัก 1 ส่วนเป็นข้าวหรือแป้ง และอีก 1 ส่วนสุดท้ายเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน พร้อมใส่ใจการลดหวาน มัน เค็ม
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส. กล่าวว่า ผู้สูงอายุ รวมถึงคนในครอบครัวทุกวัย ควรได้รับประทานอาหารที่ใช้สูตร 6:6:1 ในการปรุง คือน้ำตาลไม่เกิน6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมต่อสุขภาพของประชาชน ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารตามธรรมชาติ ปรุงแต่งน้อย หรืออาหารสุขภาพ เน้นการเลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาวเพราะมีสารอาหารมากกว่า พร้อมเลือกรับประทานเนื้อปลา สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพราะมีโปรตีนที่มีคุณภาพ เลือกรับประทานไข่ได้วันละฟอง โดยเน้นไข่ต้ม ไข่ตุ๋น เลี่ยงไข่ดาวและไข่เจียว
สำหรับผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ให้ลดเหลือ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ เลือกโปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด ดื่มนมรสจืดหรือนมพร่องมันเนย 1กล่องหรือ 1 แก้วต่อวัน เพื่อเสริมสร้างแคลเซียม และรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ เน้นอาหารที่ต้ม ย่าง ยำ ตุ๋น หรือนึ่ง ซึ่งควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหว ออกแรง หรือมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางที่ทำให้หายใจแรงขึ้น แต่ไม่จำเป็นถึงขั้นหายใจหอบ โดยสะสมให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อาจเป็นการออกกำลังกายรวดเดียว 30 นาทีหรือแบ่งเป็นช่วง ช่วงละ 10–15นาที ซึ่งถ้าเป็นออกกำลังกายเบา เช่น เดินเล่น รวมถึงการนอนหลับให้เพียงพอก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ควรทำให้ได้อย่างน้อยวันละ 5-6 ชั่วโมง .-สำนักข่าวไทย