กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายผู้ประสานงานระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียนปลายเดือนนี้ หวังยกระดับการเฝ้าระวังอันตรายในสินค้าเกษตรและอาหารที่จะเข้ามาในภูมิภาค
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเครือข่ายผู้ประสานงานระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียน ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2559 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพมหานคร เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะการดำเนินงานระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประสานงานประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถดำเนินการระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้เข้าประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมาร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ผู้แทนจากเลขาธิการอาเซียน โดยผู้แทนฝ่ายไทยประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
นางสาวดุจเดือน กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช.เริ่มดำเนินงานระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียน หรือ (ASEAN Rapid Alert System for Food and Feed : ARASFF) ตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารความเสี่ยงระหว่างประเทศสมาชิกเครือข่ายเมื่อมีการตรวจพบอันตรายหรือความเสี่ยงต่อผู้บริโภคในสินค้าอาหารหรืออาหารสัตว์นำเข้า โดยให้ประเทศสมาชิก10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ลาว อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความปลอดภัยอาหาร และอาหารสัตว์ตามข้อตกลงการค้าในอาเซียน ภายใต้ระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียน
ทั้งนี้ จากผลดำเนินงานระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียน พบว่าไทยให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และฟิลิปปินส์ ในการจัดตั้งระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ระดับประเทศ และอบรมการใช้งานระบบให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้เชื่อมโยงข้อมูลจากระบบระดับประเทศสู่ระบบ ARASFF แต่ปัจจุบันประเทศสมาชิกยังไม่มีการนำเข้าข้อมูลการแจ้งเตือนในระบบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องผลักดันและสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกที่เหลือจัดทำระบบระดับประเทศ และจะได้เชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ ARASFF สำหรับประเทศสมาชิกที่มีการจัดทำระบบระดับประเทศแล้ว ประเทศไทยจะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ ARASFF ดังนั้น หากประเทศสมาชิกมีการนำเข้าข้อมูลในระบบอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในการเฝ้าระวังอันตรายในสินค้าที่นำเข้ามาในภูมิภาคอาเซียน และช่วยให้ประเทศไทยสามารถกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าสินค้าที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเข้าสู่ประเทศไทยได้.-สำนักข่าวไทย