กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – กรมปศุสัตว์กระจายวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้ อปท.ทั่วประเทศ ระดมฉีดฟรีต่อเนื่องสิ้นเดือนมิถุนายน ย้ำวัคซีนปีนี้มีเพียงพอตรวจสอบคุณภาพการสร้างคุ้มกันแล้ว ตั้งเป้าปลอดโรคปี 63
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เร่งบูรณาการกับฝ่ายปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระตุ้นให้ประชาชนทั่วประเทศนำสุนัขและแมวมาฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ตามนโยบายนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เน้นย้ำให้ปศุสัตว์อำเภอประสานงานกับนายอำเภอและผู้บริหาร อปท.ผ่านทั้งการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สร้างการรับรู้อย่างทั่วถึงเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีงบประมาณ 2562 ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า จากรายงานพื้นที่พบโรคพิษสุนัขบ้าปีงบ 2562 (1 ต.ค. 61 – 20 มี.ค .62) มีพื้นที่อยู่ระหว่างเร่งควบคุมโรค 21 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ศรีสะเกษ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา และสตูล โดยมีพื้นที่โรคสงบและอยู่ระหว่างเฝ้าระวังโรคจนครบ 6 เดือน 43 จังหวัด ซึ่งปี 2562 ยังไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าและมีเป้าหมายไม่พบโรคทั้งในคนและสัตว์ภายในปี 2563
ส่วนปัญหาที่พบปี 2560 – 2561 คือ การกระจายวัคซีนลงในพื้นที่ไม่ทั่วถึงและขาดแคลนบางพื้นที่ จึงแก้ไขมีการบูรณาการบริหารจัดการวัคซีนร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชนผู้นำเข้าวัคซีน ซึ่งพบว่าปีนี้มีความต้องการวัคซีน 14.3 ล้านโด๊ส โดยวัคซีนที่นำเข้า 14.9 ล้านโด๊ส ดังนั้น ยืนยันว่าวัคซีนปีนี้มีเพียงพอและทั่วถึงทุกพื้นที่ ส่วนคุณภาพวัคซีนมีการตรวจสอบภาคสนามภายหลังฉีดโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าวัคซีนมีคุณภาพสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สุนัขและแมวผ่านเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใกล้บ้าน ซึ่งต้องฉีดเป็นประจำทุกปี อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนผู้เลี้ยงสัตว์ให้เฝ้าระวัง หากพบสุนัข แมว อาการสงสัยป่วยหรือตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือผ่านแอพพลิเคชัน DLD 4.0 “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้เลี้ยงสัตว์ได้ทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย