กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการใช้สื่อรูปแบบใหม่ คือ โซเชียลมีเดีย ทั้งจากพรรคการเมืองและประชาชน ซึ่งนักวิชาการมองว่า จะเป็นอาวุธทรงพลังที่อาจพลิกโฉมการเมืองไทยได้
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อโซเชียลมีเดีย กลายเป็นช่องทางหลักของพรรคการเมืองและผู้สมัครเกือบทั้งหมดที่ใช้ในการหาเสียงขอคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มองว่า สื่อโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธสำคัญที่พรรคการเมืองใช้เป็นช่องทางการสื่อสารของพรรค ของผู้สมัคร และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวถึงการตอบรับ กระแส และต่อยอดกระแสที่เกิดขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดของเวลาในการหาเสียง และสามารถเผยแพร่ข่าวสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้จำนวนมาก โดยเฉพาะ Facebook และ Twitter ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมใช้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในการเลือกตั้งครั้งนี้มากที่สุด คาดว่าพลังจากโซเชียลมีเดียจะทำให้คาดเดาผลการเลือกตั้งได้ยาก เพราะจะมีการสวิงโหวต และการปะทะกันระหว่างคน 2 เจเนอเรชัน
เช่นเดียวกับมุมมองของ จอห์น วิญญู นักสื่อสารมวลชน ที่เห็นว่า พลังจากสื่อโซเชียลมีเดียอาจทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือวัฒนธรรมการเมืองของไทยได้มากขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากประชาชนมีช่องทางในการสะท้อนความคิดเห็น ความต้องการของตัวเอง ไปยังพรรคการเมือง ผู้สมัคร หรือผู้มีอำนาจได้ โดยไม่ต้องแสดงตัว
ปัจจุบันมีคนไทยใช้สื่อโซเชียลมีเดียประมาณ 51 ล้านคน จากประชากร 69 ล้านคน ซึ่งนักวิชาการเสนอแนะให้หน่วยงานรัฐและ กกต.ต้องปรับตัว และหามืออาชีพมาช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อรับมือกับข่าวลือข่าวลวงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา. – สำนักข่าวไทย