วอชิงตัน 20 ก.พ.- สหรัฐภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีหนี้ประเทศมากเป็นประวัติการณ์ถึง 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 684 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากวันแรกที่เขาก้าวเข้ามานั่งในทำเนียบขาว
เอเอฟพีรายงานว่า รัฐบาลทรัมป์รับหนี้ประเทศจากรัฐบาลบารัค โอบามา 19.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 620.4 ล้านล้านบาท) เท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประเทศเป็นครั้งแรกนับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มาตรการลดภาษีนิติบุคคลขนานใหญ่ที่ทรัมป์ผลักดันเมื่อสิ้นปี 2560 และการเพิ่มงบประมาณรายจ่ายโดยเฉพาะงบกลาโหมทำให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้มียอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น ทรัมป์โต้เสียงวิจารณ์ว่า หากไม่มีกองทัพที่แข็งแกร่งก็ไม่ต้องห่วงเรื่องหนี้ แต่จะมีปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่านี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลยืนยันว่า การลดภาษีที่คาดว่าจะทำให้ยอดขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 46.64 ล้านล้านบาท) ใน 10 ปี จะให้ผลในภายหลังเพราะจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต และจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
สหรัฐเกินดุลบประมาณนาน 4 ปีสมัยรัฐบาลบิล คลินตันเพราะเศรษฐกิจเฟื่องฟู หลังจากนั้นกลับมาขาดดุลเพราะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุชทำสงครามอิรัก ต่อมารัฐบาลบารัค โอบามาต้องแก้ไขผลจากวิกฤตการเงินโลกปี 2551-2552 ด้วยการเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ทำให้ฐานะการเงินรัฐทรุดหนัก ก่อนจะขาดดุลลดลงในช่วงท้ายสมัย นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว สังคมประชากรสูงวัยที่ทำให้รัฐมีค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพและบำนาญมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณยืดเยื้อ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชี้ว่า เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าฐานะการคลังสหรัฐไม่ยั่งยืนและต้องเร่งแก้ไข
นอกจากหนี้ประเทศแล้ว สหรัฐยังมีปัญหาหนี้เอกชนที่เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในหนึ่งทศวรรษ นโยบายดอกเบี้ยต่ำที่เฟดใช้มาตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตการเงินโลก ทำให้หนี้เอกชนขณะนี้สูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 280 ล้านล้านบาท) ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนวิกฤตการเงินโลกมาอยู่ที่ 13.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 420 ล้านล้านบาท) ในปัจจุบัน สามในสี่เป็นหนี้สินเชื่อบ้านและหนี้การศึกษา ส่วนหนี้ยานยนต์ก็มีสัดส่วนผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง.- สำนักข่าวไทย