กรุงเทพฯ 18 ก.พ.-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯเร่งรัดกรมวิชาการเกษตรจัดทำแผนปฏิบัติงานที่จะนำไปสู่การลด
ละ เลิกใช้สารเคมี 3 ชนิดตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งการสำรวจปริมาณสารเคมี
วิธีการฝึกอบรม การใช้สารเคมีที่ถูกต้อง
ฯลฯ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ได้สั่งการนายอนันต์
สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี
3 ชนิดของกระทรวง นำรายละเอียดแผนปฏิบัติงานมาเสนอ
โดยเรื่องที่ให้ทำเร่งด่วนคือ การสำรวจปริมาณสารเคมีทั้ง 3
ชนิดทั้งจากผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายว่า มีอยู่เท่าไร เนื่องจากยังมีองค์กรต่าง ๆ
ผู้ได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้นำเข้าเกินกำหนด
จึงต้องสำรวจให้เสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อให้กระจ่างต่อสังคม ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดชื่อผู้ครอบครอง
รวมทั้งวัน เดือน ปีที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า
โดยการอนุญาตครั้งต่อไปต้องระบุชัดเจนว่า บริษัทใดเคยนำเข้าเท่าไร
แล้วจะลดเหลือเท่าไร
แผนการควบคุมในพื้นที่ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะไม่ให้มีการจำหน่าย
ครอบครองหรือใช้อย่างเด็ดขาด
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งกำหนดวิธีการฝึกอบรมทั้งผู้จำหน่าย
เกษตรกร
ลูกจ้างรับฉีดพ่นสารเคมีซึ่งต้องมีหลักสูตรที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดทราบถึง
วิธีการใช้ที่ถูกต้องและปลอดภัย โดยจะให้กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งมีทั้งเกษตรจังหวัด
เกษตรอำเภอ และมีเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลครอบคลุมทั่วประเทศเข้ามาช่วย
รวมถึงใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร (ศพก.) ซึ่งมี 882
แห่งในทุกอำเภอและศพก. เครือข่ายอีก 10,000
กว่าแห่งเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ อีกทั้งจะประสานกับกระทรวงมหาดไทยในการแต่งตั้งกำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มาสนับสนุน
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรต้องร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชนศึกษาวิจัยหาวิธีการหรือสารอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง
3 ชนิด
สิ่งสำคัญที่ต้องทำทันทีคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งรัดขยายพื้นที่การทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน
GAP และ/หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149
ล้านไร่ภายใน 2 ปี โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนของกระทรวงต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนทุก
3 เดือน
ด้านรศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
การที่มีผู้กล่าวว่า พบสารพาราควอตตกค้างในผักผลไม้นั้น
ไม่น่าจะจริงเนื่องจากหากฉีดพ่นที่ใบพืชโดยตรง ใบจะไหม้
เกษตรกรจึงใช้ฉีดพ่นตอนเตรียมดินก่อนปลูกหรือฉีดพ่นรอบโคนต้นสำหรับพืชไร่ ซึ่งพาราควอตเป็นยาฆ่าหญ้าที่มีประสิทธิภาพดีมาก
สลายตัวในสิ่งแวดล้อมได้ดี ราคาประหยัด
แต่หากนำมาใช้ในความเข้มข้นสูงจะมีความเป็นพิษสูง ประเทศที่ให้ยกเลิกใช้พารา ควอตระบุว่า
เนื่องจากเกรงคนนำไปฆ่าตัวตาย ส่วนประเทศที่ใช้อยู่ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยเช่น
การเจือจางก่อนบรรจุขาย ผู้ใช้ต้องฝึกอบรมการใช้อย่างถูกวิธี
และจำหน่ายให้เฉพาะผู้ที่อบรมแล้ว หากบีบให้ยกเลิกใช้พาราควอต
เกษตรกรต้องไปใช้ยาฆ่าหญ้าชนิดอื่น ซึ่งมีอันตรายเช่นกัน อีกทั้งมีราคาแพงกว่า ทางเกษตรกรจึงเรียกร้องให้ส่งเสริมการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
รศ.เจษฎา กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือ ฝ่ายต่าง ๆ
ส่วนใหญ่เถียงกันโดยไม่คำนึงเกษตรกร ควรให้เกษตกรซึ่งเป็นผู้ใช้สารเคมีนี้โดยตรงเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้เอง-สำนักข่าวไทย