กรุงเทพฯ 4 พ.ค.- รมว. ธรรมนัสเรียกประชุมด่วน กำชับกรมชลประทานเร่งช่วยเหลือเกษตรกร บรรเทาปัญหาภัยแล้ง ย้ำใช้ “ศูนย์พิรุณราช” ทุกจังหวัดเป็นศูนย์รับแจ้งความเดือดร้อนของเกษตรกร เหตุกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฤดูฝนจะเริ่มสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพ.ค. และอาจเกิดฝนทิ้งช่วง ด้านกรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน พร้อมรับทั้งภาวะน้ำน้อย-น้ำมาก ส่วนค่าความเค็มที่จุดสูบน้ำดิบสำแล ดีขึ้นตามลำดับ
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประชุมด่วนที่กรมชลประทานเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ โดยมีนายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทานรายงานแผนบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ
ร้อยเอกธรรมนัสสั่งการให้กรมชลประทานเร่งแก้ไขสถานการณ์น้ำแบบเชิงรุกเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดตลอดฤดูแล้งส่งผลให้หลายพื้นที่ซึ่งอยู่ในช่วงที่ผลผลิตกำลังจะออก ได้รับน้ำไม่เพียงพอ จึงให้ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยระดมเครื่องจักร เครื่องมือ และบุคลากรแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรอย่างเต็มกำลัง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ ให้ใช้ “ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช” ทุกจังหวัด เป็นศูนย์รับแจ้งความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภัยแล้ง โดยเน้นย้ำให้ขึ้นป้ายชัดๆ โดยเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาทันที
พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า พืชฤดูแล้งเก็บเกี่ยวแล้ว 100 % สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน 2567 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมและสิ้นสุด 31 ตุลาคม 2567 ทั้งเพื่อการรักษาระบบนิเวศ การอุปโภคบริโภค การเกษตร และอื่นๆ ทั้งประเทศรวมทั้งสิ้น 14,821 ล้านลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนจัดสรรน้ำไว้ประมาณ 4,949 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทานส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึงเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมผลผลิต
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคมและในช่วงกลางเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงหรือฝนตกน้อย อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน จึงขอให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร โดยรอให้ฝนตกสม่ำเสมอก่อนจึงค่อยเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวเพื่อช่วยประหยัดการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งสำรองน้ำไว้ในช่วงฝนทิ้งช่วง
ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงตุลาคม 2567 คาดว่า ปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่สภาวะลานีญา โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า อาจเกิดพายุหมุนเขตร้อนในฤดูฝน 1-2 ลูกที่จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งได้ จึงกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา การระบายน้ำที่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงหมั่นตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังให้ตรวจสอบเส้นทางการระบายน้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฝนปี 67 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ได้อย่างเต็มศักยภาพ
นายธเนศ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวว่า ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์น้อยคือ เท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 30 จำนวน 16 แห่งได้แก่ เขื่อนภูมิพลมีน้ำร้อยละ 29 สิริกิติ์มีน้ำร้อยละ 19 กิ่วคอหมามีน้ำร้อยละ 28 แควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 26 แม่มอกกมีร้อยละ 20 น้ำพุงมีร้อยละ 27 จุฬาภรณ์มีน้ำร้อยละ 13 อุบลรัตน์มีน้ำร้อยละ 21 ลำตะคองมีน้ำร้อยละ 29 สิรินธรมีน้ำร้อยละ 22 ป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำร้อยละ 15 กระเสียวมีน้ำร้อยละ 7 ขุนด่านปราการชลมีน้ำร้อยละ 17 คลองสียัดมีน้ำร้อยละ 3 พบพระมีน้ำร้อยละ 29 และปราณบุรีมีน้ำร้อยละ 20 ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยคือ เท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 30 มี 108 แห่ง
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค. 67) มีปริมาตรน้ำรวม 41,458 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ส่วนปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,516 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งมี 43,744 ล้าน ลบ.ม. ปีนี้น้อยกว่า 2,286 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนสถานการณ์ค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงช่วง 25-30 เมษายนทำให้เกินมาตรฐานที่ 0.50 กรัมต่อลิตรบางช่วงเวลา ขณะนี้คลี่คลายตามลำดับ โดยกรมชลประทานเพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำท่าจีนมาลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อมาเจือจางค่าความเค็ม พร้อมกันนี้ประสานกับการประปานครหลวงให้ลดการสูบน้ำเข้าระบบในช่วงที่ค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนช่วงที่ไม่เกินมาตรฐาน ให้เพิ่มปริมาณการสูบเข้าระบบเพื่อเจือจางไม่ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านรสชาติของน้ำประปาที่ส่งเลี้ยงพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ
เช้าวันนี้ (4 พฤษภาคม) เวลา 06.00 น. ค่าความเค็มที่สูบน้ำดิบสำแล 0.36 กรัมต่อลิตร เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของวานนี้ (3 พฤษภาคม) ซึ่งอยู่ที่ 0.53 กรัมต่อลิตร ซึ่งลดลง แต่ทั้งนี้ระหว่างวันอาจมีบางช่วงเวลาที่เกินค่ามาตรฐาน 0.50 กรัมต่อลิตร แต่ระยะเวลาที่เกินพบว่า ลดลงด้วย จากเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ช่วงเวลาที่เกินมาตรฐาน 12 ชั่วโมงต่อวัน วานนี้เหลือ 4 ชั่วโมงต่อวัน
นอกจากนี้ได้เพิ่มปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนเจ้าพระยามาแล้ว เพื่อผลักดันน้ำเค็มช่วงน้ำทะเลหนุนสูงรอบใหม่ 10-11 พฤษภาคมนี้ ตลอดจนจะพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ด้วย แต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำต้นทุนจำกัดจึงจะเพิ่มการระบายน้ำอีกเพียงเล็กน้อยและเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น โดยเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 512 – สำนักข่าวไทย