กระทรวงการคลัง 31 ส.ค.-สำนักงานเศรษฐกิจการคลังสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่า เกือบทุกภาคส่งสัญญาณฟื้นตัวและขยายตัวได้ต่อเนื่อง ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังน่าเป็นห่วงทั้งการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนกรกฎาคม 2559 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เสถียรภาพทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว สะท้อนการใช้จ่ายและยอดรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 และ 11.8 ต่อปี ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 20.8 ต่อปี สำหรับการท่องเที่ยวในภูมิภาคขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ ร้อยละ 12.8 และ 6.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจยังเปราะบาง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังชะลอตัว สะท้อนจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและภาคการก่อสร้าง โดยเฉพาะยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวร้อยละ 11.9 และ 18.5 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่เม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการหดตัวร้อยละ 77.9 ต่อปี แต่การท่องเที่ยวยังขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 12.9 และ 8.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 10.5 และ 13.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวจากรายได้ขยายตัวดีที่ร้อยละ 7.8 ต่อปีและภาคเกษตรกรรม จากดัชนีผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 3.8 และ 0.6 ต่อปี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ส่วนเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงาน
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บบนฐานการใช้จ่ายขยายตัวที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ ร้อยละ 22.1 ต่อปี ด้านภาคการท่องเที่ยวของภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 46.4 และ 78.5 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 24.1 ต่อปี ภาคตะวันตก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปการท่องเที่ยวยังขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 2.3 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคและการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้น้อย สะท้อนจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 27.2 และ 6.4 ต่อปี ตามลำดับ
ภาคใต้ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน การใช้จ่ายและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 และ 3.5 ต่อปี ตามลำดับ ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 29.8 ต่อปี ขณะที่ด้านอุปทานยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีทั้งจำนวนและรายได้ที่ร้อยละ 11.4 และ 22.1 ต่อปี ตามลำดับ
กรุงเทพฯและปริมณฑล เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 และ 12.4 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวทั้งในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเม็ดเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบการ แต่จำนวนและรายได้จากการท่องเที่ยวปรับตัวลดลงร้อยละ 22.0 และ 16.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน (ข้อมูลเดือนมิถุนายน) อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงาน-สำนักข่าวไทย