ก.เกษตรฯ 14 ก.พ. – “สมคิด” สั่งกระทรวงเกษตรฯ เร่งนโยบายโควตาเกษตรกรรม แก้ปัญหาผลผลิตล้นจนราคาตกต่ำซ้ำซาก ส่งเสริมปลูกพืชที่ตลาดต้องการ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งรัฐบาลอนุมัติให้ปีนี้เป็นปีแรก กรอบวงเงิน 12,000 ล้านบาท โดยบูรณาการ 7 กระทรวงร่วมกันปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศ ทั้งนี้ ได้เร่งรัดนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดแผนปฏิบัติการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้ทันใช้ในฤดูกาลผลิตปีนี้ โดยกระทรวงเกษตรฯ ต้องกำหนดชนิดพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่มีปัญหาราคาตกต่ำซ้ำซาก
ทั้งนี้ การใช้งบประมาณดังกล่าวจะเป็นไปตามแผนการผลิตพืชแต่ละชนิด โดยต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลโดยรวมของประเทศ (Big Data) ทำให้ทราบความต้องการของตลาด จึงนำไปจัดสรรพื้นที่การผลิต เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นเกินจนราคาตกต่ำอย่างที่ผ่านมา สำหรับรูปแบบการทำเกษตรกรรมยังคงทำเป็นแปลงใหญ่ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน บริษัท (จำกัด) ซึ่งจะลดต้นทุนการผลิตได้ทั้งในการหาปัจจัยการผลิตราคาถูก การใช้เครื่องจักรกลที่ทันสมัยในการเตรียมแปลงและเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ ยังจะเชิญนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้ความรู้ในการพัฒนาสินค้าการเกษตร และเชิญภาคเอกชนมารับซื้อจากสถาบันเกษตรกรโดยตรง จับเป็นคู่ค้ากัน ซึ่งเป็นการรับประกันว่า หากเกษตรกรปลูกพืชใด ๆ ตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรฯ จะมีตลาดแน่นอน อีกทั้งยังขายได้ราคาดี ทั้งนี้การปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรจะเป็นผลสำเร็จต่อเมื่อลดปัจจัยเสี่ยงของเกษตรกรต้องทำให้เกษตรกรมั่นใจ จึงจะยอมปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชต่าง ๆ ตามคำแนะนำ
นายกฤษฎา กล่าวว่า กำลังเร่งจัดทำนโยบาย “การจัดสรรปริมาณการผลิตตามความต้องการของตลาด” หรือ “โควตาเกษตรกรรม” ให้เสร็จตามที่รองนายกรัฐมนตรีกำหนดไว้
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการสำคัญของนโยบายดังกล่าวจะกำหนดพื้นที่ปลูกพืชหลักให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) สำรวจศักยภาพการจัดสรรน้ำซึ่งรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน อีกทั้งจะสำรวจความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยล่าสุดสั่งการให้อัครราชทูตฝ่ายการเกษตรใน 11 ประเทศ สำรวจความต้องการของตลาดโลกว่า ต้องการผลผลิตสินค้าทางการเกษตรและแนวโน้มราคา จากนั้นจึงจะนำมาจัดสรรปริมาณการผลิต โดยจะดำเนินการในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น สำหรับพืชที่จะส่งเสริมการปลูกอย่างเป็นรูปธรรมลักษณะเดียวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา คือ ถั่วเหลือง ซึ่งที่ผ่านมาผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต้องนำเข้า แต่เกษตรกรไม่นิยมปลูก เนื่องจากเก็บเกี่ยวยาก หากดำเนินการในรูปแบบแปลงใหญ่ใช้เครื่องจักรกลเป็นเครื่องมือตั้งแต่การเตรียมดินจนเก็บเกี่ยวผลผลิตจะทำได้ง่าย ลดต้นทุนการผลิตได้ อีกทั้งราคาสูง จากนั้นจะขยายรูปแบบนำไปใช้กับการทำปศุสัตว์และประมง
ทั้งนี้ ได้ปรับแนวทางการทำงานของข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ใหม่ โดยหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันมีทั้งเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด พัฒนาที่ดินจังหวัด และชลประทานจังหวัดส่งเสริมการผลิตและจับคู่ค้า หาตลาดให้ ส่วนระดับกระทรวงนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ จะบูรณาการกับกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีหน้าที่หลักในการหาตลาด รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจากที่มีหน้าที่ปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ควรเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมการทำตลาดควบคู่ไปด้วย เพื่อการพัฒนาสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงขึ้น.-สำนักข่าวไทย