กรุงเทพฯ 30 ม.ค. – เเพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชี้ผลกระทบสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 รุนแรงกว่าที่คิด เรื่องใกล้ตัวอย่างการสูบบุหรี่เพียง 3 มวน ส่งผลร้ายกว่าฝุ่นควันไอเสียจากรถยนต์ดีเซล พร้อมชู “เชียงใหม่โมเดล” แก้ปัญหาฝุ่น
10 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่และจังหวัดในภาคเหนือเผชิญปัญหาฝุ่นต่อเนื่อง ปี 2559-2560 มีผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่ม ร้อยละ 1.6 ต่อปริมาณ PM 2.5 ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะที่ อ.เชียงดาว เกษตรกรลักลอบเผาพื้นที่การเกษตรมากที่สุด ทำให้ชาวบ้านต้องสูดควันพิษ จึงมีอัตราการเสียชีวิตรายวันสูงกว่าเชียงใหม่ 2 เท่า ฝุ่นพิษยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยในโรงพยาบาล เสี่ยงเสียชีวิตได้สูงกว่าช่วงไม่มีมลพิษ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหา จนเชียงใหม่โมเดลถูกหยิบยกมาหาแนวทางลดปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ความเข้มข้นของฝุ่น ยิ่งมากทำให้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงกับผลการศึกษาทั่วโลก โดยประเทศกำลังพัฒนาเเละอยู่ในเขตร้อน ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศพัฒนาเเล้วเเละอยู่ในเขตหนาว ผลระยะยาว ทำให้อายุคนสั้นลงตามปริมาณความเข้มข้นของฝุ่น และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยตายจากโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ 4 ใน 5 อันดับ เป็นโรคเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ อาทิ โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว โรคปอดอักเสบเรื้อรัง
จากการทดสอบพบฝุ่นควันจากบุหรี่เป็นภัยใกล้ตัวที่น่ากลัวกว่าควันจากท่อไอเสีย เมื่อใช้เครื่องวัดค่าฝุ่น วัดกล่องปิด ภายในมีควันบุหรี่ พบค่าพุ่งสูงเกิน 500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดกว่า 50 เท่า หรือไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ 3 มวน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด แนะลด-เลิกสูบบุหรี่ ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่อย่างน้อยวันละ 10.9 ล้านมวน สร้างฝุ่นควันอันตราย ทั้งยังดูดซึมไปในร่างกาย และมีผลต่อควันบุหรี่มือสองและมือสามด้วย
แพทย์แนะรัฐต้องมีเป้าให้ชัด วัดให้ได้ และไปให้ถึง เพราะปัจจุบันรัฐต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่อาจไม่ได้คำนึงถึงสุขภาพเป็นหลัก ต่างจากแพทย์ที่มองสุขภาพสำคัญสุด พร้อมเสนอมีเว็บไซต์ที่อัพเดตข้อมูลเพื่อสื่อสารกับประชาชน ขณะที่กฎหมายสิ่งแวดล้อมไทยมีกว่า 70 ฉบับ มีปัญหาการบังคับใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกล้าตัดสินใจ แนะเก็บภาษีฝุ่น เช่น เดนมาร์กใช้ภาษีร้อยละ 8 ดูแลสิ่งแวดล้อม
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผลสำรวจจาก 10 คลินิก พบมีผู้ป่วยที่มารักษาโรคทางเดินหายใจจากฝุ่นจิ๋วเพิ่มเป็น 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นเด็ก หากสะสมมากขึ้นจะทำให้สมองเด็กเสื่อม จนหยุดการเจริญเติบโต ซึ่งอาจกระทบต่อกำลังคนที่จะพัฒนาประเทศในอนาคต. – สำนักข่าวไทย