กกต. 2 ก.ย.-พตส.7 เสวนานโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง “กรณ์” ระบุพรรคการเมืองชูนโยบายเอาใจประชาชน แต่ทำแล้วมีแต่ผลเสีย ด้าน “เจษฎ์” นโยบายพรรคคือจุดขี้ขาดว่าเพรรคเข้มแข็งหรืออ่อนแอ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ (2 ก.ย.) ว่า ในการสัมมนา หัวข้อ “นโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง : ข้อเท็จจริง ปัญหา และแนวทางแก้ไข” ของผู้เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 7 หรือ พตส.7
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นโยบายที่ดีไม่จำเป็นต้องโดนใจประชาชน และนโยบายที่โดนใจประชาชนไม่จำเป็นต้องดี หลักการของนโยบายที่ดีมี 4 ข้อ คือ 1.พัฒนาประเทศโดยไม่สร้างความแตกแยก 2.พัฒนาประเทศถูกต้องตามหลักกฎหมายและศีลธรรม 3.พัฒนาประเทศโดยไม่เสียวินัยการคลัง และ 4.พัฒนาประเทศด้วยความยุติธรรมตามหลักประชาธิปไตย ส่วนการพิจารณาว่าดีหรือไม่นั้น ต้องดูว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ และมีความเป็นไปได้เพียงใด ที่ผ่านมาแต่ละพรรคการเมืองมุ่งเน้นว่านโยบายจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้ เพื่อให้ได้คะแนนเสียง ทำให้พรรคการเมืองใหญ่มุ่งชูนโยบายให้ประชาชนเข้าใจง่าย แต่บางครั้งไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมา
“ยกตัวอย่างในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยชูนโยบายรถยนต์คันแรก พรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบายบ้านหลังแรก ซึ่งนโยบายพรรคเพื่อไทยโดนใจประชาชนมากกว่า ทำให้ได้คะแนนเสียงจำนวนมาก และชนะพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่นโยบายดังกล่าวสร้างผลเสียมากกว่า ทั้งกับตัวประชาชนและงบประมาณของประเทศ ขณะที่พรรคขนาดกลางและเล็ก เมื่อประชาชนไม่ให้ความสนใจ ก็ทำให้พรรคไม่สนใจที่จะชูนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาได้จริง ส่วนใหญ่ก็เป็นลักษณะที่เป็นไปไม่ได้” นายกรณ์ กล่าว
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงของการร่างรัฐธรรมนูญ มีการพูดว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายเข้ามาควบคุมการเสนอนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้มาสร้างปัญหาให้กับประเทศ แต่ตนกลับเห็นว่าการที่จะทำให้พรรคการเมืองเสนอนโนบายที่ดีต้องมาจากการกดดันของประชาชน สื่อต้องติดตามอย่างเข้มข้น ควรจะมีหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อมาวิเคราะห์นโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่านโยบายดังกล่าวจะใช้งบประมาณในการดำเนินการเท่าใด และจะสร้างความเสียหายเกิดขึ้น
ด้านนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แนวทางร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในเรื่องพรรคการเมืองมีเสรีภาพในระดับที่เหมาะสม มีขื่อแปที่จะดำเนินงานร่วมกัน ทำให้พรรคต้องมีความรับผิดชอบในการเสนอนโยบายที่เป็นสัญญาประชาคม และมีการกำหนดว่า เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วนโยบายนั้นสร้างความเสียหาย คณะรัฐมนตรีที่ร่วมเห็นชอบจะต้องรับผิดชอบร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย
“ร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ไม่ได้มีความคิดที่จะออกแบบให้พรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่อ่อนแอ ความเข้มแข็งของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าเรามีพรรคมากหรือน้อย แต่อยู่ที่นโยบายของพรรคว่าดีกับประชาชนหรือไม่ ซึ่งต้องทำให้ประชาชนมองนโยบายพรรคสำคัญ แต่ลักษณะของคนไทยและสื่อ เป็นลักษณะของพวกเกาะไม่ติด กัดแล้วปล่อย คือเห็นว่ามีปัญหาก็ไม่ตรวจสอบให้ถึงที่สุด ดังนั้นถ้าจะเรียกร้องให้พรรคการเมืองเปลี่ยน ประชาชนก็ต้องเปลี่ยนด้วย” นายเจษฎ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย