ก.คลัง 23 ม.ค. – กระทรวงการคลังชี้แจงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนส่วนใหญ่ใช้เงินในประเทศ ชี้ยังไม่ได้ผูกพันสัญญาเงินกู้กับ CEXIM ยังเปิดโอกาสพิจารณาเงินกู้จากหลายประเทศ
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (สบน.) ชี้แจงถึงกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีเงินลงทุนรวมกว่า 179,412 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 13,273 ล้านบาท และเงินกู้ 166,342 ล้านบาท และใช้เงินในประเทศ 127,784 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของวงเงินกู้
ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 หรือ 38,558 ล้านบาท เพื่อใช้ในงานระบบไฟฟ้า งานจัดหาขบวนรถ งานวางราง และฝึกบุคลากร จะใช้เป็นเงินกู้ต่างประเทศเพื่อใช้จ่ายเป็นเงินตราประเทศ โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการผูกพันสัญญาเงินกู้กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน หรือ CEXIM ซึ่งในส่วนนี้จะเปิดกว้างพิจารณาเงินกู้จากหลายประเทศ แม้จะมีการใช้เทคโลยีของจีน
ส่วนประเด็นข้อกังวลเรื่องไทยจะติดกับดักหนี้จีนหากกู้เงินจีนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.3 ที่ก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยยังมองว่าสูงเกินไปนั้น นางจินดารัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งรัฐบาลยังต้องเปรียบเทียบความคุ้มค่าก่อน และตามกรอบความร่วมมือของโครงการนี้ไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ไม่ได้เป็นการร่วมลงทุน ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นเจ้าของโครงการแต่เพียงผู้เดียว. – สำนักข่าวไทย