กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – กยท.กำหนดแผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี เน้นสร้างความเข้มแข็งสถาบันเกษตรกร ผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ ลดการปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม วิจัยแปรรูปยางเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ เตรียมเสนอ ครม. เห็นชอบเร็ว ๆ นี้
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แถลงแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี โดยกล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีเนื้อที่ปลูกประมาณ 23 ล้านไร่ สามารถผลิตยางได้ปีละ 4.4 ล้านตัน สร้างรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 1.6 ล้านครัวเรือน 300,000 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 400,000 ล้านบาทต่อปี แต่ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก อีกทั้งราคายางพาราที่ซื้อขายกันในตลาดโลกยังถูกกำหนดในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งมีการการเก็งกำไร ทำให้ราคาผันผวน นอกจากนี้ ราคายางสังเคราะห์ยังลดต่ำลงทำให้ทั่วโลกหันมาใช้ยางสังเคราะห์แทนยางธรรมชาติเพื่อลดต้นทุน ทำให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) มุ่งเน้นเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ ด้วยการส่งเสริมการผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ลดสัดส่วนการส่งออกยางวัตถุดิบ
ทั้งนี้ กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ประเทศผู้ผลิตยางคุณภาพดี เกษตรกรมีรายได้มั่นคง” จึงมีแนวทางสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกรฯ เพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยการปรับเปลี่ยนไปทำสวนยางแบบผสมผสาน การจัดการสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่ นอกจากนี้ จะแก้ไขปัญหาสวนยางที่บุกรุกพื้นที่ป่า โค่นต้นยางเก่า และปลูกแทนด้วยยางพันธุ์ดี หรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น พัฒนาคุณภาพยางและผลิตภัณฑ์ยางให้ได้มาตรฐาน ให้ความสำคัญแก่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งทำระบบซื้อขายยางในตลาดกลางยางพาราแต่ละแห่งเข้ากับตลาดยางท้องถิ่นโดยเรียกว่า “ตลาดยาง กยท.” เพื่อที่จะสร้างข้อมูลด้านปริมาณและราคาที่มีการซื้อขายจริงให้ทั่วโลกนำไปใช้ในการอ้างอิง นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนแปรรูปยางพารา
นายเยี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งทำ คือ การทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ตามที่สภาพิทักษ์ป่า (FSC) ของสหภาพยุโรปกำหนด ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ปี 2563 ไม่เช่นนั้นทั้งยุโรปและญี่ปุ่นจะไม่ซื้อทั้งผลิตภัณฑ์ไม้ยางและยางวัตถุดิบจากสวนที่ ไม่ได้รับการรับรอง ในระยะยาวจะจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับใช้ทดแทนแรงงานคนในสวนยาง เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป้าหมายสำคัญตามยุทธศาสตร์ คือ ลดพื้นที่ปลูกยางจาก 23.3 ล้านไร่ เหลือ 18.4 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณผลผลิตยางจาก 224 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เป็น 360 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางภายในประเทศจากร้อยละ 13.6 เป็นร้อยละ 35 ในปี 2579 เพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางจาก 250,000 เป็น 800,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มรายได้การทำสวนยางจาก 11,984 บาทต่อไร่ต่อปี เป็น 19,800 บาทต่อไร่ต่อปี จากนี้ไป กยท.จะนำยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี ให้คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ให้ความเห็นชอบแล้วจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นขั้นตอนต่อไป.-สำนักข่าวไทย