กรุงเทพฯ 1 ส.ค. – กยท.กำหนดมาตรการยกระดับราคายางพารา เสนอลดพื้นที่ปลูกยางปีละ 200,000 ไร่ ต่อเนื่อง 5 ปี และของบฯ สนับสนุนเกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทน
นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.นำเสนอโครงการลดการปลูกยางพาราในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาพื้นที่เป้าหมาย คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยทำนาและพื้นที่ดอนให้น้ำยางน้อย เกษตรกรไม่คุ้มทุน กยท.จึงจะสนับสนุนให้โค่นต้นยางทิ้ง แล้วปลูกพืชอื่นทดแทนตามความเหมาะสมของสภาพดิน (Agri-map) กำหนดจะลดให้ได้ปีละ 200,000 ไร่ จะลดผลผลิตน้ำยางออกจากตลาดได้ปีละ 200,000 ตัน ดำเนินการต่อเนื่อง 5 ปี
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอเพิ่มเงินสนับสนุนสำหรับการปลูกพืชอื่นทดแทนจากเดิมไร่ละ 16,000 บาท เป็น 20,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกันยายน นอกจากนี้ กยท.ยังใช้นโยบายทางการตลาดปรับให้ราคายางสูงขึ้น โดยใช้ตลาดกลางของ กยท. 6 แห่งเป็นตลาดกลางรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร โดยจัดสรรงบประมาณ 250 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน รวมทั้งเป็นตลาดกลางขายแก่ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการแข่งขันราคาประมูล ทำให้ราคายางพาราแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 45.50 บาท เพิ่มจากเดิม 1-1.50 บาท
นอกจากนี้ กยท. ยังดำเนินธุรกิจใหม่ โดยจะจัดตั้งบริษัทร่วมค้ากับสหกรณ์ชาวสวนยางขายยางแปรรูปทั้งจากโรงงานของ กยท.และโรงงานของสหกรณ์ชาวสวนยางแก่ผู้ประกอบการ ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้ง กยท.จะขายยางแปรรูปชนิดต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กันไว้แล้ว ในคราวที่เชิญทูตและผู้ประกอบการจากหลายประเทศมาดูความก้าวหน้าในการผลิตยางพาราคุณภาพที่จังหวัดกระบี่และตรัง โดยไม่ผ่านผู้ส่งออก ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการทั้งหมดจะทำให้ราคายางพาราจะปรับตัวสูงขึ้นจนสูงกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นราคาขั้นต้นที่เกษตรกรพึงพอใจ.-สำนักข่าวไทย