กรุงเทพฯ5 ม.ค.- ธพว.ออกมาตรการพักหนี้คู่เติมทุนฟื้นฟูธุรกิจ ผู้ประสบภัย”ปาบึก”ด้านประมง ระยอง เรือเสียหายจากคลื่นแรง 20 ลำ
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง สั่งการให้ตรวจสอบสถานการณ์ในจังหวัดระยอง ที่มีการรายงานความเสียหายของเรือประมง เบื้องต้นพบว่า เรือประมงพื้นบ้านที่จอดเทียบท่าและได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์คลื่นลมแรง และน้ำขึ้นสูงตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดระยอง โดยที่อำเภอเมืองระยอง กลุ่มประมงสวนสน เรือได้รับความเสียหาย จำนวน 10 ลำ, อำเภอแกลง แหลมแม่พิมพ์ ได้รับความเสียหาย จำนวน 20 ลำ, อำเภอบ้านฉาง ตำบลพลา ได้รับความเสียหาย จำนวน 1 ลำ
นายอดิศร กล่าวว่า หน่วยงานประมงพื้นที่ได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยแก่ชาวประมงก่อนหน้านี้แล้ว แต่เนื่องจากคลื่นลมแรงมากจึงทำให้เรือที่จอดอยู่บริเวณชายหาดจำนวนมากได้รับความเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีน้ำเข้าเครื่องยนต์เรือ แต่สามารถซ่อมแซมโดยถอดมาล้างและใช้งานได้ บางส่วนเปลือกเรือแตก เนื่องจากเรือกระแทกกันขณะจอด ซึ่งสามารถซ่อมแซมได้เช่นกัน โดยในขณะนี้หน่วยงานกรมประมง ได้ร่วมบูรณาการตรวจสอบความเสียหาย และช่วยเหลือในการซ่อมแซม โดยกรมประมงจะช่วยเหลือชาวประมงที่ประสบภัย ตามระเบียบกรมประมงว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือชาวประมงที่ประสบภัยธรรมชาติ พ.ศ. 2541 อีกด้วย
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารฯได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ “ปาบึก”ในครั้งนี้ ได้แก่
1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
2.มาตรการ วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหาย มีเงินทุน นำไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และ3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท
นอกจากนั้น สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจหลังภัยพิบัติผ่านไปแล้ว ธนาคารได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับ สำหรับใช้ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ และหมุนเวียน เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ครอบคลุมสนับสนุนกลุ่มเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการใหม่ มีนวัตกรรม กลุ่มค้าส่งค้าปลีก ร้านโชห่วย ร้านค้าชุมชน ร้านธงฟ้า ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล จะมีอัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน . – สำนักข่าวไทย