ภูมิภาค 3 ม.ค. – พายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าไทย สร้างความกังวลให้หลายฝ่าย เพราะคาดว่าความรุนแรงเทียบเท่าพายุโซนร้อน “แฮเรียต” เมื่อปี 2505 มหาวาตภัยที่สร้างความสูญเสียให้แหลมตะลุมพุก พายุ “ปาบึก” จะรุนแรงขนาดไหน ติดตามจากรายงาน
เหตุมหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก เมื่อ 57 ปีก่อน กลับมาสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้ชาวนครศรีธรรมราชอีกครั้ง เนื่องจากความรุนแรงของพายุโซนร้อนแฮเรียต มีระดับใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนปาบึก หากย้อนไปในอดีต ภาคใต้ของไทยเผชิญกับความรุนแรงของพายุถึง 3 ลูก
25 ตุลาคม ปี 2505 พายุโซนร้อน “แฮเรียต” ถล่ม มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 ราย สูญหายมากกว่า 100 ราย ผู้คนนับหมื่นไร้ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช แฮเรียตกวาดทุกอย่างที่นี่จนหมดสิ้น
4 พฤศจิกายน ปี 2532 พายุไต้ฝุ่น “เกย์” ซึ่งเดิมเป็นพายุหมุนเขตร้อน ทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่น เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ อ.ปะทิว และ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ทำให้ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และหลายจังหวัดเสียหายหนัก มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย สูญหายกว่า 400 ราย ทรัพย์สินราชการและเอกชนเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ นับเป็นการสูญเสียจากพายุไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ลูกสุดท้าย คือ พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” ปี 2540 มีผู้เสียชีวิตทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มากถึง 3,000 ราย
สำหรับพายุ “ปาบึก” ที่ภาคใต้กำลังเผชิญ เป็นพายุโซนร้อนชนิดเดียวกับ “แฮเรียต” มีรัศมีทำลายล้างเกือบ 300 กิโลเมตร สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างมากกว่าแฮเรียต แต่เป็นความสูญเสียด้านทรัพยากรธรรมชาติ
การเคลื่อนตัวของพายุปาบึก คาดการณ์ตำแหน่งจุดศูนย์กลางของพายุขึ้นฝั่งได้ 3 ลักษณะ คือ แบบที่ 1 เคลื่อนเข้าสู่ อ.หัวไทร อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ช่วง 16.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (4 ม.ค.) แบบที่ 2 เคลื่อนเข้าสู่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี อ.หลังสวน จ.ชุมพร ช่วง 04.00 น. ของวันที่ 5 ม.ค. และแบบสุดท้าย เคลื่อนเข้าสู่ อ.สวี อ.เมือง จ.ชุมพร ช่วง 07.00 น. ของวันที่ 5 ม.ค. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องอพยพผู้คนออกจากชายฝั่งทะเล ตั้งแต่รัศมี 100-500 เมตร เสี่ยงเจอสตอร์มเซิร์จ คลื่นทะเลที่มีความสูงถึง 5 เมตร
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้ไทยเผชิญกับความแปรปรวน ระบบเตือนภัยพิบัติ จึงมีบทบาทสำคัญในยุคปัจจุบัน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง แจ้งข่าวสารทุก 12 ชั่วโมง จนเพิ่มความถี่ทุก 3 ชั่วโมง ผ่านเทคโนโลยีทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว
สำหรับสภาพอากาศตลอดปี 2562 ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ระบุไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ครึ่งปีแรกจะประสบกับสภาพอากาศแล้งจัด โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน อุณหภูมิจะสูงเป็นประวัติศาสตร์ และเข้าสู่ฤดูฝนล่าช้าประมาณ 2 สัปดาห์ จนเข้าสู่ช่วงลานีญา ไทยอาจเจอพายุอีกลูก ภาคใต้เสี่ยงน้ำท่วมอีกครั้ง. – สำนักข่าวไทย