เชียงใหม่ 21 ธ.ค. – กรมการพลังงานทหารเตรียมขุดสำรวจปิโตรเลียมเพิ่ม 3 หลุมปีหน้า หวังรักษาปริมาณผลิตแหล่งน้ำมันดิบฝาง 750 บาร์เรลต่อวัน
นายภูมี ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานบริหารจัดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งน้ำมันดิบฝาง ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นายภูมี กล่าวภายหลังจากการเข้าชมการบริหารจัดการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบ่อน้ำมันฝางของศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ ว่า ที่นี่เป็นแหล่งน้ำมันดิบแห่งแรกที่ค้นพบในประเทศไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมผลักดันให้เกิดการตื่นตัวเรื่องจัดหาและพึ่งพาทรัพยากรพลังงานในประเทศ จนพัฒนาไปสู่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยในปัจจุบัน
พันเอกนรสิงห์ ภีมะโยธิน รองผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ กรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2532 เพื่อดำเนินงานด้านกิจการปิโตรเลียมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การสำรวจและผลิตและการกลั่นปิโตรเลียมภายใต้กรอบและแนวทางที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ และลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่สงวนไว้เพื่อกิจการปิโตรเลียมของกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตปิโตรเลียมของศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือดำเนินการเฉพาะที่แหล่งน้ำมันดิบฝางครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ตำบลแม่คะ แม่สูน และสันทราย โดยมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 750 บาร์เรลต่อวัน จากหลุมผลิตทั้งหมด 62 หลุม ซึ่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั้งหมดจะส่งเข้าโรงกลั่นฝางเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อใช้ในภารกิจของกระทรวงกลาโหมเป็นหลัก และปัจจุบันบ่อน้ำมันฝางเหลือปริมาณสำรองน้ำมันดิบ 63 ล้านบาร์เรล หากไม่มีการสำรวจขุดเจาะเพิ่มจะผลิตน้ำมันได้อีกแค่ 11 ปี โดยปีหน้ามีแผนจะขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมเพิ่มอีก 3 หลุม อยู่บริเวณอำเภอฝากตอนกลาง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 18 ล้านบาทต่อหลุม เพื่อรักษาระดับอัตราการผลิตน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2499 ถึงปัจจุบันมีการเจาะหลุมสำรวจไปแล้วกว่า 300 หลุม และพบน้ำมันดิบที่ผลิตขึ้นมาใช้ได้ 62 หลุม ส่วนน้ำมันดิบที่ผลิตได้จะนำเข้าสู่โรงกลั่นน้ำมันฝาง ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันขนาดเล็กแบบ Simple refinery มีขีดความสามารถในการกลั่น 2,500 บาร์เรลต่อวัน แต่ปัจจุบันกลั่นอยู่ประมาณ 1,400 บาร์เรลต่อวัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีทั้งแนฟทา น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา โดยแนฟทา จะขายให้กับ IRPC โดยอิงราคาที่ตลาดสิงคโปร์ ส่วนน้ำมันดีเซลจะใช้ในกิจการของกองทัพและจำหน่ายให้กับผู้ค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ ด้านน้ำมันเตานำไปผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมดีเซล ที่มีกำลังการผลิต 12.14 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 4.5 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปี 2562 เบื้องต้นจะไม่มีการต่อสัญญาและจะยกเลิกการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีอายุการใช้งานกว่า 21 ปี ถือว่าเครื่องผลิตเก่ามากแล้ว
ทั้งนี้ เดือนตุลาคมปี 2562 จะเดินหน้าศึกษาโครงการต้นแบบ 2 โปรเจค โดยโปรเจคแรกร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อนำแนฟทาที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมันฝางไปศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นน้ำมันเบนซิน เพื่อจำหน่ายให้กับรถยนต์ในพื้นที่และโปรเจคที่ 2 จะร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำน้ำมันเตาหลักที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมันฝางไปศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นน้ำมันดีเซล เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลและเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่ผลิตได้ เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก .– สำนักข่าวไทย