กรุงเทพฯ18 ธ.ค.– ปตท.สผ.ทำแผนลงทุน 5 ปีรวม 525,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการลงทุนหลังชนะประมูล”บงกช-เอราวัณ” ส่วนยอดขายหากไม่ลงทุนใหม่จะหดลง จาก 318,000 บาร์เรล/วัน เหลือ 235,000
บาร์เรล/วัน จึงต้องเพิ่มการลงทุนเชิงรุกมากขึ้น
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
จำกัด(มหาชน) หรือปตท.สผ. . เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้จัดทำแผนการลงทุน 5 ปี (ปี 2562-2566)
รวม 16,105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 525,055 ล้านบาท) โดยในส่วนนี้ทั้งงบลงทุนและยอดขายจะยังไม่รวม โครงการลงทุนที่ปตท.สผ.ได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจ
G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ G2/61 (แหล่งบงกช)
ในทะเลอ่าวไทยแต่อย่างใด เพราะต้องรอลงนามสัญญากับรัฐบาลก่อน อย่างไรก็ตาม
ประเมินว่า ช่วง 5 ปี ของการลงทุนนับจากปี 2565-2566 จะมีเม็ดเงินลงทุน แหล่งเอราวัณ 600-650 ล้านดอลลาร์สหรัฐและแหล่งบงกช
400-450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับงบลงทุนประจำปี 2562 ปตท.ตั้งไว้ที่ 3,256 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 107,453 ล้านบาท) แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน
(Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน
1,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(เทียบเท่า 60,721 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 1,416
ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 46,732 ล้านบาท)
ด้วยเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่ 318,000
บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ภายใต้การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณขายที่สูงกว่าปี 2561 ที่อยู่ที่ประมาณ310,000
บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการรักษาปริมาณการผลิต
บริษัทได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 1,159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า
38,247 ล้านบาท)
ในโครงการผลิตหลักในประเทศไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (เมียนมาร์) ได้แก่
โครงการเอส 1 โครงการบงกช โครงการอาทิตย์
โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และโครงการซอติก้า
และจัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 16,170
ล้านบาท) ในการผลักดันการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา
ได้แก่ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์
แอเรีย วัน โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และเวียดนาม 52/97 และโครงการคอนแทร็ค 4 (แหล่งอุบล) ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองและการผลิตในอนาคต นอกจากนี้
บริษัทยังให้ความสำคัญกับกิจกรรมสำรวจโครงการในเมียนมาร์ และมาเลเซีย
เพื่อเพิ่มโอกาสการเพิ่มทรัพยากร ผ่านการจัดสรรรายจ่ายลงทุนจำนวน 191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 6,304 ล้านบาท)
“ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป จะเห็นแผนกลยุทธ์ของ
ปตท.สผ. ในเชิงรุกมากขึ้น โดยจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก
ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
บริหารต้นทุนการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
โดยจะให้ความสำคัญกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัท
และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน” นายพงศธร กล่าว –สำนักข่าวไทย