กรุงเทพฯ 10 ธ.ค. – ประเด็นร้อนเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งที่มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ ล่าสุดท่าทีของ กกต.เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา มีการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 แบบ คือ บัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) และบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต แต่สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะเหลือเพียงบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่านั้น หากลงคะเนนให้ผู้สมัครคนใด ก็ถือว่าลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดด้วย
การเลือกตั้งครั้งนี้ เบอร์ของผู้สมัครแต่ละพรรคจะแตกต่างกันในแต่ละเขต การส่งบัตรเลือกตั้งไปนอกเขตทั้ง 350 เขต โดยเฉพาะต่างประเทศ จึงต้องเป็นบัตรเฉพาะตัวของผู้มีสิทธิ ไม่ใช่บัตรโหลที่ใช้ด้วยกันได้ ทำให้เกิดข้อกังวลว่า หากเกิดปัญหาระหว่างขนส่ง กกต.อาจส่งบัตรเลือกตั้งสำรองไปให้ไม่ทัน จึงเกิดแนวคิดรูปแบบบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีโลโก้และชื่อพรรค ซึ่งถูกกระแสวิจารณ์อย่างหนัก
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ข้อมูลว่า การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง มีอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกมีข้อมูลครบถ้วน ทั้งหมายเลข ชื่อ และโลโก้พรรคการเมือง ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ บัตรที่มีหมายเลขผู้สมัคร หาก กกต.จำเป็นต้องพิมพ์บัตรลักษณะนี้ ก็จะอุดช่องว่าง โดยจะส่งข้อมูลผู้สมัคร พรรคการเมืองของเขตที่ผู้ลงทะเบียนฯ มีสิทธิไปให้ทราบด้วย โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องหารืออีกครั้งในสัปดาห์นี้ ก่อนส่ง กกต.พิจารณาชี้ขาดในสัปดาห์หน้า
รองเลขาธิการ กกต. ย้ำว่าไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ก็คงห้ามกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้สำหรับคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมยืนยันการจัดทำบัตรเลือกตั้งมีคณะทำงานที่พิจารณารอบด้านทั้งกระบวนการ มั่นใจไม่สามารถปลอมแปลงได้ง่ายๆ
ด้านนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่า หากไม่มีโลโก้ในบัตรเลือกตั้ง จะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน การพิมพ์ชื่อ หมายเลขผู้สมัคร สังกัด และโลโก้พรรคให้ครบถ้วน จึงเป็นทางออกเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและจดจำได้ง่ายที่สุด
นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการอิสระ ยังกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในการเลือกตั้งนั้น หลักคิดก็คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับรู้และมีส่วนร่วม ได้ประโยชน์สูงสุด. – สำนักข่าวไทย