เชียงใหม่ 6 ธ.ค. – “ดอยหลวงเชียงดาว” นอกจากจะมีทัศนียภาพที่สวยงาม จนกลายเป็นจุดหมายของผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติดั้นด้นขึ้นไปสัมผัสแล้ว ยังเต็มไปด้วยความหลากหลายของพืชพรรณและดอกไม้เฉพาะถิ่นที่มีให้ชมเพียงแห่งเดียว และเป็นเหมือนบ้านของกวางผาและเลียงผาที่ใหญ่ที่สุดในไทยด้วย ติดตามในรายงานชุด “สัมผัสเสน่ห์ดอยหลวงเชียงดาว…สวรรค์แห่งยอดดอย” วันนี้เสนอเป็นตอนที่ 2
ตลอดเส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่ดอยหลวงเชียงดาว เขาหินปูนที่สูงที่สุดในไทย กว่า 8 กิโลเมตร ผ่านเทือกเขาหินปูนสลับซับซ้อน ท่ามกลางสภาพป่าและพรรณไม้ที่แปลกตา มองไปไกลๆ บนเทือกเขา เราจะเห็นต้นไม้คล้ายต้นมะพร้าวเรียงรายอยู่ด้านบน สมกับชื่อ “ปาล์มรักเมฆ”
ตามเส้นทางยังเต็มไปด้วยดอกไม้สวยงามแปลกตา เพราะที่นี่เป็นสังคมพืชป่าละเมาะเขาสูง หรือป่ากึ่งอัลไพน์ที่ชัดเจนที่สุดในไทย มีพืชจากเทือกเขาหิมาลัยที่เชื่อมต่อกันกระจายลงมา กลายเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่พบแห่งเดียวในไทยหรือในโลก อย่าง “ฟองหินเหลือง” ดอกเล็กสีเหลืองสด ที่แทรกตัวขึ้นมาจากหินปูนได้อย่างน่าอัศจรรย์
เดินมาไม่นาน เราก็พบกับพระเอกของดอยหลวงเชียงดาว อย่าง “ดอกเทียนนกแก้ว” ที่มีรูปร่างคล้ายกับนกแก้วสีขาวอมม่วงกำลังบิน
ยิ่งใกล้ยอดดอยหลวงเชียงดาว ยังมีพรรณไม้ที่สวยงามให้ชมเรื่อยๆ ทั้งชมพูพาน ที่บานรับไอหมอก ดอกนางจอย หรือเอสเธอร์ ก็อวดดอกขาวเล็กๆ น่ารักอยู่ด้านล่าง ข้างๆ มีหรีดเชียงดาว ดอกคล้ายดาวสีม่วงอยู่ใกล้ๆ
“ชมพูพิมพ์ใจ” ดอกเล็กๆ สีชมพูหวาน มีกลิ่นหอม เป็นพืชเฉพาะถิ่น เหมือนนางเอกของที่นี่ สูงขึ้นไปจนเกือบถึงยอดดอยหลวงเชียงดาว ยังมีกุหลาบเชียงดาว หรือคำขาวเชียงดาว ที่กำลังบานสะพรั่งสวยงามให้ชม
ตามหน้าผาและสวนหินบนดอยหลวงเชียงดาว ยังเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุดของกวางผาและเลียงผาในไทยด้วย ตามทางจึงพบร่องรอยการหากินของมันเป็นระยะ
ภาพจากกล้องดักถ่ายที่ติดตั้งไว้ ทำให้เห็นพฤติกรรมของกวางผา ที่ออกมาหากินใกล้กับเส้นทางเดินของคนมากขึ้น พร้อมๆ กับจำนวนผู้คนที่ขึ้นสู่ดอยหลวงเชียงดาวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 2 ปีที่แล้ว พุ่งเกือบ 20,000 คน จนเริ่มส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสัตว์ป่า ปีนี้เจ้าหน้าที่จึงเพิ่มมาตรการ ทั้งจำกัดจำนวนคน ไปจนถึงจัดการขยะและการขับถ่าย ให้ขนกลับลงมาให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว. – สำนักข่าวไทย