กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – กรมปศุสัตว์วางแผนเผชิญโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรเต็มระบบ หลังพบเชื้อในไส้กรอกที่นักท่องเที่ยวจีนนำติดตัวมายังสนามบินเชียงราย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศเข้มงวดตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสารทางเครื่องบินที่มาจากจีนทุกเที่ยวบิน หากพบนำอาหารซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรจะยึด ตรวจเชื้อ และทำลายทิ้ง เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร ซึ่งระบาดหนักในจีนแพร่มายังไทย ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังท่าอากาศยานปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย น้ำหนัก 800 กรัมห่อมิดชิด แต่สุนัขดมกลิ่นของกองสารวัตร พบซุกซ่อนในกระเป๋าเดินทาง เจ้าหน้าที่จึงยึดไว้ ตรวจสอบเบื้องต้นยืนยันว่ามีเชื้อไวรัสก่อโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรปนเปื้อนมาด้วย โดยนักท่องเที่ยวรายนี้เดินทางจากเมืองเฉินตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยสายการบินเสฉวนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 3U8287 จากนั้นส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันโรคอีกครั้ง พบการปนเปื้อนสารพันธุกรรมของเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในผลิตภัณฑ์ไส้กรอกดังกล่าว โดยไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียต่อจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่สามารถตรวจเชื้อปนเปื้อนเข้ามากับผลิตภัณฑ์สุกร
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคนี้กรมปศุสัตว์ได้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฝ้าระวังโรคนี้มาตั้งแต่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานการพบโรคในจีนวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ได้ออกประกาศกรมปศุสัตว์ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านสุกรหรือซากสุกรจากจีน รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุกรด้วย ประกาศกรมปศุสัตว์มีระยะเวลา 90 วัน ะครบกำหนดวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะออกประกาศกรมปศุสัตว์ฉบับต่อไป เพื่อชะลอการนำเข้าอีก 90 วัน เนื่องจากล่าสุดมาพบจุดเกิดโรคมณฑลยูนนานอยู่ทางตอนใต้ของจีนแล้ว พรมแดนทางตอนใต้ของจีนติดต่อกับเวียดนามและลาว จึงต้องเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสุกรตามแนวชายแดนด้วย เนื่องจากไทยส่งสุกรไปขายยังลาวและกัมพูชา หากเชื้อแพร่มาถึงจะทำให้ไทยอยู่ในภาวะเสี่ยงมากขึ้น
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรเป็นโรคระบาดร้ายแรง แม้ไม่ติดต่อสู่คน แต่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคในสุกร แพร่กระจายได้ง่าย เชื้อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูงสามารถติดมากับยานพาหนะทั้งทางบก ทางเรือ และทางเครื่องบิน ขณะนี้ได้จัดทำแผนเผชิญโรคอย่างเต็มรูปแบบเข้มงวดตรวจสอบสัมภาระของนักท่องเที่ยวที่อาจมีการลักลอบนำผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีผลการตรวจยึดได้จำนวนมาก รวมทั้งเข้มงวดตรวจจับและหาข่าวการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์ผ่านเข้ามาทางชายแดนประเทศเพื่อนบ้านโดยประสานความร่วมมือกับหน่วยความมั่นคงต่าง ๆ รวมทั้งเร่งสร้างความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรผ่านรูปแบบการประชุมและการซ้อมแผนในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง อีกทั้งเตรียมพร้อมของห้องปฏิบัติการและเครือข่ายในการตรวจวินิจฉัยให้มีความถูกต้องและรวดเร็วที่สุด เมื่อสุกรตายต้องทำลายด้วยการฝังกลบแล้วพ่นยาฆ่าเชื้อโรคไม่ให้นำมาชำแหละกิน เนื่องจากจะทำให้เชื้อแพร่กระจายออกไปรวดเร็วขึ้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรรมการเลี้ยงสุกรของไทยมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี ขณะนี้สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยภาครัฐในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับภัยร้ายของโรคนี้แก่เกษตรกรรายย่อยซึ่งเลี้ยงสุกร โดยยังไม่ได้จัดทำระบบมาตรฐานฟาร์ม ยังไม่มีระบบการป้องกันโรคที่ดีตามมาตรฐาน (GAP) ดังนั้น อย่างน้อยต้องให้ผู้เลี้ยงรายย่อยใช้มาตรฐานการป้องกันและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) ตรวจสอบแหล่งที่มาของสุกรก่อนเข้าฟาร์ม ร่วมกับการจัดการด้านระบบความปลอดภัยทางชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช้เศษอาหารที่มาสุกรนำมาเลี้ยงสุกรหรือนำผลิตภัณฑ์ที่มาจากสุกรเข้าฟาร์มโดยเด็ดขาดรายย่อยที่มีจำเป็นต้องใช้เศษอาหารเลี้ยงสุกรให้ต้มให้สุกก่อน ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำโรคเข้าสู่ฟาร์มได้
ทั้งนี้ ปี 2561 องค์การสุขภาพสัตว์โลกรายงานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกรในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 16 ประเทศ ทวีปยุโรป 11 ประเทศ ทวีปแอฟริกา 4 ประเทศ และล่าสุดทวีปเอเชีย 1 ประเทศ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น ควบคุมป้องกันโรคมิให้เข้ามาระบาดภายในประเทศจากการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาคด้วยมีความตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตสุกรของไทยหากเกิดการระบาดโรคในประเทศไทย จึงได้บูรณาการความร่วมมือในการจัดทำแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเพื่อให้การจัดทำแผนมีความครอบคุม ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) เพื่อเตรียมงบประมาณชดเชยเกษตรกรกรณีเกิดโรคในประเทศ ซึ่งจะต้องทำลายสุกรทิ้งเท่านั้น ทั้งนี้ ขอให้ผู้เลี้ยงสังเกตอาการสุกรอย่างใกล้ชิด หากพบสุกรแสดงอาการป่วย เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร ผิวหนังเป็นปื้นแดงและต่อมาเป็นสีเขียวคล้ำ พบภาวะแท้งในแม่สุกรและมีจำนวนสุกรตายผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือและควบคุมโรคอย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย