กรุงเทพฯ 21 เม.ย. – กรมปศุสัตว์เร่งฉีดวัคซีนควบคุมกาฬโรคแอฟริกาในม้า 7 จังหวัด พร้อมวางมาตรการเข้ม ป้องกันการรั่วไหลของวัคซีน คาดโทษผู้ฝ่าฝืนจะดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการป้องกันและควบคุมกาฬโรคแอฟริกาในม้า ว่า โรคนี้จะไม่ติดต่อถึงคน แต่จะติดต่อในม้า ม้าลาย ลา และล่อ เป็นต้น โดยกรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภาครัฐและเอกชน รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกันวางแผนและดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ตั้งแต่ผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าพบกาฬโรคแอฟริกาในม้า ( AHS) เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และล่าสุดได้รับการบริจาควัคซีนจากนายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ อุปนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย และ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ 4,000 โด๊ส กรมปศุสัตว์จึงได้นำไปฉีดป้องกันกาฬโรคแอฟริกาในม้าครั้งแรกของไทยที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลองสถานเสาวภา สภากาชาดไทย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดโรคอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 20 กิโลเมตร และมีม้า 560 ตัว ซึ่งม้าดังกล่าวเป็นม้าที่ใช้สำหรับผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและเซรุ่มแก้พิษงู
ทั้งนี้ จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ประจำสถานเสาวภา ปรากฎว่าไม่มีม้าแสดงอาการแพ้วัคซีน และจากการตรวจสุขภาพไม่พบสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรมปศุสัตว์มีแผนฉีดวัคซีนป้องกันม้าในพื้นที่เกิดโรครัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค 7 จังหวัด คือ นครราชสีมา ชัยภูมิ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี ชลบุรี และสระแก้ว ที่พบการระบาดของกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งวัคซีนจะใช้เวลา 14 วัน จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันโรคและเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้มีการจัดการประชุมชี้เแจงแผนการป้องกันและควบคุมโรค AHS และมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการฉีดวัคซีน ให้แก่สำนักงานปศุสัตว์เขต และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เป้าหมายการฉีดวัคซีน โดยกำชับฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้ดังนี้
1. ทำความเข้าใจกับเจ้าของม้า เช่น เหตุผลที่ต้องฉีดวัคซีน การปฏิบัติกับม้าที่ฉีดวัคซีน และผลกระทบภายหลังฉีดวัคซีน รวมทั้ง อาจมีการสูญเสียม้าจากผลข้างเคียงของการใช้วัคซีน 2. ให้นำม้าเข้ามุ้ง เพื่อป้องกันแมลงกัด ก่อนเก็บเลือดอย่างน้อย 3 วัน ภายหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 วัน 3. ขึ้นทะเบียนม้าทุกตัว โดยฝังไมโครชิพ และลงข้อมูลในฐานข้อมูลของระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ หรือ NID 4. ก่อนฉีดวัคซีนจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของ และต้องตรวจสุขภาพสัตว์ เช่น วัดอุณหภูมิตัวสัตว์ หากพบมีไข้ ไม่ให้ฉีดวัคซีน และกักแยกสัตว์ในมุ้งเพื่อดูอาการ เก็บตัวอย่างเลือดม้าส่งห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูการติดเชื้อ ในกรณีที่สัตว์ติดเชื้อ ให้แยกสัตว์ออกจากฝูง และดำเนินการป้องกันแมลงดูดเลือด เพื่อลดการแพร่จะจายของโรค 5. ดำเนินการฉีดวัคซีนในสัตว์ที่ไม่พบการติดเชื้อ และติดตามอาการข้างเคียงภายหลังจากฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 72 ชั่วโมง (หากแสดงอาการข้างเคียง ให้ดูแลรักษาตามอาการ) ในกรณีที่ม้าตั้งท้องให้พิจารณาการให้วัคซีนตามดุลยพินิจจากสัตวแพทย์ 6. หลังจากฉีดวัคซีนภายใน 1 เดือน ให้เก็บตัวอย่างเลือด เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีน หากพบมีระดับภูมิคุ้มกันไม่อยู่ในระดับที่ป้องกันโรคได้ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำ และ 7.ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ที่ฉีดวัคซีนออกจากคอกเลี้ยงที่มีมุ้ง เป็นระยะเวลา 30 วัน และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ออกจากพื้นที่ จนกระทั่งไม่มีสัตว์ป่วยเพิ่ม เป็นระยะเวลา 90 วัน อีกทั้งให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดเร่งทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงม้าในพื้นที่เป้าหมายที่จะฉีดวัคซีน ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความเข้าใจการใช้วัคซีนป้องกันโรคและให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมก่อนและหลังการฉีดวัคซีน และข้อปฏิบัติภายหลังการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามมาตรการข้อกำหนดเงื่อนไขการฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลเบิกจ่ายวัคซีน วัคซีนที่ได้รับการบริจาคจะทำการเก็บรักษาไว้ที่สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้ปศุสัตว์จังหวัดทำเรื่องเบิกจ่ายตามแบบฟอร์มผ่านปศุสัตว์เขตและให้ ผอ.สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เป็นผู้อนุมัติ ในการฉีดวัคซีนทุกครั้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ต้องเข้าไปกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการข้อกำหนดเงื่อนไขการฉีดวัคซีนของกรมปศุสัตว์พร้อมทั้งรายงานการฉีดวัคซีนตามแบบฟอร์ม กคร. 4 กคร. 5 เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
นอกจากนี้ ได้กำชับให้ปศุสัตว์จังหวัดกำกับดูแลการใช้วัคซีนไม่ให้เกิดการรั่วไหลไปฉีดในสัตว์นอกพื้นที่เป้าหมายตามแผนฯ อย่างเคร่งครัด เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการขอคืนสถานภาพปลอดโรคจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE หากฝ่าฝืนจะดำเนินการทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาด.-สำนักข่าวไทย