สหรัฐ 21 พ.ย.- หุ้นสหรัฐร่วงหนัก สวนทางเศรษฐกิจดีสุดรอบหลายปี เศรษฐกิจเบอร์ 1 สหรัฐ ส่งสัญญาณซวนเซ ท่ามกลางเงาทะมึน สงครามการค้ากับจีนปะทุเดือด
หุ้นโลกเมื่อวานร่วงกันหมด โดยหุ้นยุโรปถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของ Brexit และ CEO ของนิสสัน เรโนลด์ ผู้ผลิตรถยนต์ถูกจับกุมในข้อหาทำผิดกฎหมายการเงิน ขณะที่หุ้นสหรัฐ ดัชนีดาวโจนส์ ร่วงเกือบ 400 จุด จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นำโดยหุ้น Apple หลังมีการปรับลดคำสั่งผลิต IPhone รุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนกันยายน และวิตกข้อพิพาทการค้าสหรัฐ-จีน อีกครั้ง หลังนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุสหรัฐจะไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน
ประกอบกับราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลงแรง คาดว่าจะฉุดหุ้นในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมี อย่างไรก็ดี ปัจจัยในประเทศให้ติดตามมาตรการช้อปช่วยชาติ ส่วนนอกประเทศให้ติดตามความคืบหน้าสงครามการค้า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เป็นต้น
ดูเหมือนว่าตลาดกระทิงจะจบสิ้นลงแล้ว แต่นักลงทุนยังไม่ตระหนัก มอร์แกน สแตนลีย์ ระบุแม้เศรษฐกิจอเมริกาแข็งแกร่ง แต่ตลาดกำลังได้กลิ่นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังลดลงอย่างรุนแรงและกำไรบริษัทลดลง
ไมเคิล วิลสัน นักกลยุทธ์หุ้นของมอร์แกน สแตนลีย์ สงสัยเกี่ยวกับตลาดหุ้นมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว โดยกล่าวว่าในขณะที่ปี 61 ยังไม่ใช่ปีแห่งการถดถอยอย่างชัดเจน แต่ตลาดกำลังพูดถึงข่าวร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยเสียงอันดัง
ลางร้ายนี้เกิดขึ้นในขณะที่วอลล์สตรีทกำลังต่อสู้กับแรงเทขายอย่างรุนแรงอีกครั้ง ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลงเกือบ 400 จุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ขณะที่ดัชนีแนสแด็กปรับตัวลง 3% หุ้นอเมซอน เฟซบุ๊ก และเน็ตฟลิกซ์ ปรับตัวลงทั้งหมด ขณะเดียวกัน หุ้นแอปเปิ้ลก็ดิ่งลึกเมื่อมีความกังวลอย่างรุนแรงต่อดีมานด์ที่น่าผิดหวังของไอโฟนรุ่นล่าสุด
แม้ว่าจะเกิดความวุ่นวายในช่วงนี้ แต่ตลาดก็ยังคงคึกคักนานที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน ดัชนี S&P 500 กำลังมีการซื้อขายต่ำกว่าสถิติเมื่อปลายเดือนกันยายนประมาณ 9% และจะต้องลดลงจากระดับสูงสุดตลอดกาล 20% จึงจะมีสถานะเป็นตลาดภาวะหมีอย่างเป็นทางการ มอร์แกน สแตนลีย์ วิเคราะห์ตลาดหุ้นพบว่าตลาดภาวะหมีได้เข้ายึดตลาดแล้ว โดยหุ้นในดัชนี S&P 500 มากกว่า 40% ปรับตัวลงอย่างน้อย 20%
สิ่งหนึ่งเป็นความกังวลที่สุดคือ ธนาคารกลางสหรัฐกำลังขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เศรษฐกิจจะสามารถรับได้ ภาคที่มีความอ่อนไหวต่อสินเชื่อในเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาครถยนต์และที่อยู่อาศัยได้เริ่มชะลอตัวแล้ว วิลสัน ชี้ว่า เฟด ไม่น่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักลงทุนด้วยการยอมหยุดขึ้นดอกเบี้ย
ความจริงแล้วหลังจากที่ได้ปรับตัวลง ตลาดหุ้นไม่ได้ดีดตัวกลับอีกต่อไป ในปี 2561 ดัชนี S&P 500 ได้ปรับตัวลงเล็กน้อยโดยเฉลี่ยในวันที่ผลตอบแทนในสัปดาห์ก่อนหน้าเป็นลบ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545
วิลสัน บอกว่า ปีที่แรงซื้อเมื่อราคาย่อลง (Buy the Dip) ไม่ทำงาน คือ ปีที่ตลาดเป็นภาวะหมีหรือเริ่มต้นจะเป็นภาวะหมี นอกจากนี้ นักลงทุนได้เทขายหุ้นรายตัวเช่นกันแม้หลังจากที่บริษัทรายงานผลประกอบการดีกว่าที่คาด ซึ่งนั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดี ตามความเห็นของวิลสัน เมื่อมีแรงเทขายเพราะข่าวดี นั่นคือตลาดภาวะหมี
แน่นอนว่าหลายคนในวอลล์สตรีทเชื่อว่า นี่เป็นเพียงการปรับฐานอ่อนๆ ในขณะที่ตลาดปรับตัวต่อภาวะที่การเติบโตลดลง เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งกว่าที่อื่นๆ ในโลกมาก และมีการคาดการณ์ว่ากำไรบริษัทจะโตอย่างแข็งแกร่งในปีหน้า แม้ว่าจะมีอัตราลดลง
โกลด์แมน แซคส์ ก็ยังคงแนะนำให้ลูกค้าซื้อหุ้นสหรัฐ แม้เชื่อว่า GDP ภายในประเทศจะโตลดลงเหลือ 2.5% ในปี 2562 และโต 1.6% ในปี 2563 รายงานของ เดวิด คอสติน หัวหน้านักกลยุทธ์หุ้นสหรัฐของโกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่า ดัชนี S&P 500 น่าจะปิดท้ายปีนี้ที่ระดับ 2,850 จุด ซึ่งสูงกว่าระดับในปัจจุบันเกือบ 6%
อีริก นูตเซน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัท นูเบอร์เกอร์ เบอร์แมน บอกว่า ข่าวดี คือ แม้ว่าตลาดจะเป็นภาวะหมี แต่จะไม่ซ้ำรอยวิกฤติปี 2551-2552 ซึ่งได้ทำให้มูลค่าของดัชนี S&P 500 หายไปมากกว่าครึ่ง วิลสัน เตือนนักลงทุนว่าอย่าเข้าไปติดกับดักการฟื้นตัวชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพราะ “นี่คือตลาดภาวะหมี” และควรจะใช้กลยุทธ์ “ขายเมื่อหุ้นพุ่ง” มากกว่า “ซื้อเมื่อหุ้นดิ่ง”.-สำนักข่าวไทย