สำนักข่าวไทย 15 พ.ย. – กรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. ยืนยันการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.มวย ไม่ได้ปิดทางให้เด็กชกมวย แต่เพื่อยกระดับ และปกป้องสวัสดิภาพเยาวชนเท่านั้น
ยังเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องสำหรับ เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.กีฬามวย ฉบับ 2542 แก้ฉบับมาเป็นปี พ.ศ.2561 ซึ่งมีหลายฝ่ายคัดค้าน ในหลายประเด็น โดยเฉพาะฝั่งคนวงการมวย โดยเฉพาะการห้ามเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีขึ้นชกอย่างเด็ดขาด ตอนนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังอยู่ที่คณะรัฐมนตรี ซึ่งกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สนช. ยืนยันการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.มวย ไม่ได้ปิดทางให้เด็กชกมวย แต่เพื่อยกระดับ และปกป้องสวัสดิภาพเยาวชนเท่านั้น
ซึ่งวันนี้มีความคืบหน้าจากฝั่ง ผู้เสนอกฎหมายใหม่ นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการศึกษา และการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชี้แจงถึงการเตรียมแก้ไขร่างพระราชบัญญัติกีฬามวยว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานกีฬามวย และปกป้องสวัสดิภาพเยาวชนไม่ให้ถูกละเมิด และเรียนรู้เรื่องมวยไทยอย่างเป็นกระบวนการ ด้วยการใช้หลักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย และการใส่เครื่องป้องกัน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และเป็นไปตามพระราชบัญญัติการใช้แรงงานเด็ก โดยไม่ได้ห้ามเด็กชกมวย แต่ห้ามเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชกมวยอาชีพ
ส่วน พล.อ.อดุลยเดช อินทะพงษ์ สนช. ในฐานะผู้เสนอแก้ไขร่างกฎหมาย ชี้แจงประเด็นในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ได้แก่
– ที่มาของคณะกรรมการกีฬามวย ที่จะต้องมาจากการเลือกตั้งจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
– การขึ้นทะเบียนนักมวย ทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ตัวเอง และได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพราะปัจจุบันพบว่า มีเยาวชนที่ประกอบวิชาชีพมวยกว่า 100,000 คน แต่มาขึ้นทะเบียนเพียงประมาณ 10,000 คนเท่านั้น คือ ถ้ามาขึ้นทะเบียนก็จะได้รับเงินสนับสนุน
– การพัฒนาผู้ฝึกสอนและผู้ตัดสิน ให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
– ต้องกำหนดมาตรฐานของเวทีมวย ทั้งเวทีถาวร และเวทีชั่วคราว
– การร้องทุกข์ เพราะปัจจุบันพบว่า มีทั้งนักมวย เจ้าของค่ายมวย และโปรโมเตอร์ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จึงจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ในการร่างกฎหมายดังกล่าวในชั้นพิจารณาของ สนช. นั้น ผู้แทนค่ายมวย หรือผู้เกี่ยวข้อง สามารถเข้ามาร่วมพิจารณาเป็นกรรมาธิการวิสามัญได้ ผ่านโควตาของรัฐบาล หรือ สนช. และยืนยันว่า ในการพิจารณาของ สนช. ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้
ขณะเดียวกันมีข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันมวยเด็กที่น่าสนใจ ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ และคณะ ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จาก 16 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 5,042 ตัวอย่าง ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2553 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 พบว่า เฉพาะในปี 2553 นักมวยเด็กชกครั้งหนึ่งได้ค่าตัวประมาณ 300-500 บาท แต่มีการวิจัยเรื่องสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย มีจำนวนเงินหมุนเวียนในการพนันทุกประเภท 357,276 พันล้านบาท ซึ่งเฉพาะวงการมวย 30,833 พันล้านบาท โดยมวยเด็กก็รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย แต่ถ้านับมาถึงปัจจุบันเงินหมุนเวียนในการพนันทุกประเภทน่าจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเช่นเดียวกับวงการพนันมวย
สรุปคือ ทั้งสองฝ่ายก็ต่างปรารถนาดีด้วยกัน ฝั่งผู้เสนอกฎหมาย ก็อยากให้เด็กไม่บอบช้ำ มีผลกระทบทางสมอง และควบคุมการใช้กฎหมายให้รัดกุมกว่าเดิม ขณะที่ฝั่งคนมวย ก็ไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้ควบคุม หรือ คุมกำเนิดนักมวยเด็ก จนอาจทำให้ไร้ยอดฝีมือในอนาคต ทั้งสองฝ่ายต้องหาจุดร่วมกันให้ได้ .- สำนักข่าวไทย