สธ.14 พ.ย.-กรมการแพทย์ ห่วงใยพระสงฆ์อาพาธเบาหวานจากข้อมูลมารับบริการที่รพ.สงฆ์ พบมีแผลที่เท้าเสี่ยงถูกตัดนิ้วเท้า ขาท่อนล่างเพิ่มมากขึ้น เปิดคลินิกเท้าเบาหวานดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ความผิดปกติ ที่เท้าของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของผู้ป่วย เมื่อเกิดอาการเท้าชา เดินสะดุดของแข็งหรือเหยียบของมีคมจึงไม่รู้สึกตัว เกิดเป็นแผลได้ง่าย เนื่องจากความไวของผิวหนังต่อการรับรู้ สัมผัสลดลง หรือหายไป ผู้ป่วยเบาหวานจึงมีความเสี่ยงต่อการถูกตัดขามากกว่าผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวานถึง25เท่า ซึ่งการเกิดแผลที่เท้าในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเบาหวานถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ เนื่องจากการมีพระธรรมวินัยเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เช่น พฤติกรรมการเดินบิณฑบาตโดยไม่สวมรองเท้า ทำให้มีโอกาสเกิดแผลที่เท้ามากกว่าบุคคลทั่วไป การฉันอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตไม่สามารถเลือกฉันอาหารได้ ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้มีโอกาส เป็นแผลที่เท้ามากกว่าฆราวาสทั่วไป 26 เท่า
นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า พระสงฆ์มารับบริการรักษาโรคเบาหวานโดยมีแผลที่เท้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งสถิติของโรงพยาบาลสงฆ์ในปี พ.ศ.2558 มีพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเบาหวานที่มารับบริการ 1,400 รูป เกิดแผลที่เท้า 53 รูป ถูกตัดนิ้วเท้าและ/หรือขาท่อนล่างจำนวน 3 รูปในปี พ.ศ.2559 มีพระสงฆ์ที่เป็นโรคเบาหวานมารับบริการเพิ่มขึ้นเป็น 1,519 รูป เกิดแผลที่เท้า55 รูป ในจำนวนนี้ถูกตัดนิ้วเท้าและ/หรือขาท่อนล่าง จำนวน1รูปและในปี พ.ศ.2560 มีพระสงฆ์ที่อาพาธด้วยโรคเบาหวานมารับบริการเพิ่มขึ้นเป็น 1,677รูป เกิดแผลที่เท้า 44 รูป ถูกตัดนิ้วเท้าและ/หรือขาท่อนล่าง จำนวน 2 รูปซึ่งจากการถูกตัดขาก่อให้เกิดความพิการ สูญเสียภาพลักษณ์ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติกิจของพระสงฆ์
ทั้งนี้ รพ.สงฆ์ ได้พัฒนาการดูแลพระสงฆ์อาพาธแผลเบาหวานที่เท้าแบบครบวงจรโดยสหสาขาวิชาชีพ ทั้งอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทันตแพทย์ จักษุแพทย์ เภสัชกร โภชนากร นักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่ผลิตรองเท้าและงานพยาบาลอนามัยชุมชน โดยมีคลินิกเบาหวานเปิดบริการทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี รวมถึงคลินิกเท้าเบาหวาน ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันพฤหัสบดีเพื่อดูแลพระภิกษุสงฆ์ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงสามารถปฏิบัติกิจของสงฆ์ได้เป็นปกติ ทำให้สามารถรักษาแผลที่เท้าให้หายเป็นปกติมากกว่า ร้อยละ 60 เทียบเท่ามาตรฐานการรักษาแผลที่เท้าในต่างประเทศที่เป็นฆราวาสทั่วไป .-สำนักข่าวไทย