กรุงเทพฯ 12 ต.ค. – หลังความเห็นเรื่องการเก็บเงินค่าจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง สุนัขและแมว ตัวละ 450 บาท แตกออกหลายทาง กลายเป็นข้อถกเถียงในสังคม จนต้องสั่งให้หยุดเพื่อทบทวน แต่กับ กทม.ที่เริ่มออกข้อบัญญัติให้จดทะเบียนมากว่า 10 ปี มองเรื่องนี้อย่างไร ติดตามจากรายงาน
เสียงตัดพ้อของหลวงพ่อวัดอุทัยธาราม ในกรุงเทพฯ หลังมีข่าวภาครัฐเตรียมเก็บเงินลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง ตัวละ 450 บาท แค่เพียงชั่วข้ามคืนก็มีคนนำหมาและแมวมาปล่อยทิ้งที่วัด รวมกับของเดิมมีมากกว่า 50 ตัว สร้างความเดือดร้อน ปนกังวลว่าจะต้องควักเงินกว่า 20,000 บาท จ่ายค่าลงทะเบียนสัตว์ที่วัดไม่ได้เลี้ยงหรือไม่
แม้นายกรัฐมนตรีสั่งเบรกและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนใหม่แล้ว แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างว่า ความเหมาะสมที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร
ใจความหนึ่งในร่างกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ จะมอบอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการ โดยเมืองหลวงอย่าง กทม. เป็นท้องถิ่นแรกๆ ของประเทศที่เริ่มออกกฎหมายปี 2548 ก่อนใช้จริงจังในปี 2551 ให้ประชาชนนำสุนัขมาลงทะเบียนและฝังไมโครชิป ประโยชน์สำคัญเพื่อจะได้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ
เกือบ 1 ทศวรรษที่ กทม.เริ่มบังคับใช้กฎหมาย มีคนกรุงมาลงทะเบียนฝังชิปสุนัข รวมแล้วประมาณ 100,000 ตัว โดยที่ กทม.ไม่เคยคิดค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว รวมทั้งไม่เคยคิดค่าปรับ 5,000 บาท สำหรับผู้ฝ่าฝืน
แม้กฎหมายการให้เจ้าของลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องดีที่จะช่วยคัดกรองคุณภาพของผู้เลี้ยง แต่ปัญหาเรื่องจำนวนเงินที่ใช้ลงทะเบียน ยังเป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่มีคำถามว่า เงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หมาแมวได้อย่างไร เป็นการบ้านที่ กทม. รวมถึงท้องถิ่นอื่น ต้องนำไปขบคิด เพราะ กทม.เชื่อมาเสมอว่า หากอยากได้ความร่วมมือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิด คือ ต้องไม่สร้างภาระให้ประชาชน. – สำนักข่าวไทย