บช.ก. 28 พ.ย. – ตำรวจสอบสวนกลาง รวบเจ้าของโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราลักกระแสไฟตั้งเหมืองขุดบิตคอยน์ ค่าเสียหายเดือนละกว่า 1 ล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ มีมุสิก สว.กก.5 บก.ป. พร้อมด้วยตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 5 กก.5 บก.ป. ร่วมกันจับกุมนายวิรัตน์ อายุ 64 ปี และนายณัฐชัย อายุ 34 ปี พร้อมตรวจยึดของกลาง ประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยืนยันว่ามีร่องรอยแก้ไขดัดแปลง เพื่อลักกระแสไฟฟ้า จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องขุดบิตคอยน์ จำนวน 97 เครื่อง, เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบ จำนวน 1 เครื่อง ในข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยจับกุมได้ที่โรงงานแปรรูปไม้ยางพาราแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 27 พ.ย.67
ก่อนการปฏิบัติการในครั้งนี้ ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้สืบสวนทราบว่ามีโรงงาน ซึ่งเป็นโรงเลื่อยแปรรูปยางพาราแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี มีการลักกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับเครื่องขุดบิทคอยน์โดยผิดกฎหมาย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายค้นจากศาลจังหวัดไชยา เพื่อเข้าตรวจค้นโรงงานดังกล่าว
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เข้าตรวจค้นโรงงานดังกล่าว พบผู้ต้องหาทั้งสอง เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงาน ผลการตรวจค้นพบมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยืนยันว่ามีร่องรอยแก้ไขดัดแปลง เพื่อลักกระแสไฟฟ้า จำนวน 1 เครื่อง เชื่อมต่อใช้อยู่กับระบบไฟของโรงงาน, พบเครื่องขุดบิทคอยน์ ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของโรงงานและเปิดใช้งานอยู่จำนวน 97 เครื่อง
สอบถามนายณัฐชัย รับว่าได้มีการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์เพื่อลักกระแสไฟฟ้าและใช้งานกับเครื่องขุดบิทคอยน์ดังกล่าวจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.ป. จึงได้ร่วมกันจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายณัฐชัย ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยรับว่าเมื่อประมาณต้นปี 2566 ได้จ้างช่างรายหนึ่ง มาทำการดัดแปลงมิเตอร์ไฟให้อ่านค่าได้น้อยกว่าความเป็นจริง และได้ติดตั้งเครื่องขุดบิทคอยน์ภายในพื้นที่โรงงาน และเปิดใช้งานเครื่องขุดบิทคอยน์เรื่อยมา จนกระทั่งถูกตรวจค้นจับกุมตรวจสอบพบมูลค่าความเสียหาย
นายวิรัตน์ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเพิ่มเติมว่า ตัวเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการดัดแปลงแก้ไขมิเตอร์ไฟฟ้าแต่อย่างใด เพียงแค่ทราบว่า นายณัฐชัย บุตรชายได้ติดต่อให้เพื่อนนำเครื่องขุดบิทคอยน์มาติดตั้ง ที่บริเวณในโรงงานตั้งแต่ประมาณต้นปี 2566 ตัวเองให้การสนับสนุนในเรื่องเงินลงทุน
จากการตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าพบว่าหากไม่มีการดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้า เครื่องขุดบิทคอยน์ของกลางจำนวน 97 เครื่อง จะต้องเสียค่าไฟเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท แต่โรงงานดังกล่าวได้ชำระค่าไฟจริงเพียงเดือนละประมาณ 6-7 หมื่นบาท
ตำรวจสอบสวนกลางขอประชาสัมพันธ์ไปถึงประชาชนทั่วไป หากพบผู้มีพฤติการณ์ผิดปกติที่น่าเชื่อว่าอาจมีการดัดแปลงมิเตอร์เพื่อลักกระแสไฟฟ้าสำหรับติดตั้งเหมืองขุดบิทคอยน์ โปรดแจ้งเบาะแสได้ที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป. -419- สำนักข่าวไทย